รู้ไว้ไม่เสียหาย
Leonidas ราชา Sparta ในตำนาน
--------------------------------
Leonidas (ลีโอนีดัส) สิ่งที่ทำให้ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยขึ้นมาก็คงไม่พ้นภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง 300 ที่กำกับโดย Zack Snyder อันอ้างอิงมาจากคอมิคชื่อเดียวกันโดย Frank Miller และ Lynn Varley นั่นเอง ตัวเขานั้นเป็นราชาแห่งนครรัฐ Sparta (สปาร์ตา) ที่นำทัพนักรบชาวสปาร์ตา 300 นายร่วมกับตนเพื่อทำศึกต้านกองทัพเปอร์เซีย จนต้องพลีชีพใต้น้ำมือของทัพเปอร์เซียกันไปทุกราย ซึ่งประวัติของเขานั้นปรากฏอยู่ในบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่ชื่อ Herodotus (เฮโรโดตุส) ครับ
สำหรับ Assassin’s Creed: Odyssey ซึ่งเป็นภาคล่าสุดของซีรีส์ ก็ได้นำเอาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ในส่วนนี้มาใช้เช่นกัน โดยหยิบจับเอาความคลุมเครือของชีวประวัติวีรบุรุษ/วีรสตรีในบันทึกดังกล่าวของเฮโรโดตุสที่มีความคลุมเครือมาให้ผู้เล่นได้เลือกว่าต้องการจะรับบทเป็นนักรบชายหรือนักรบหญิงนั่นเอง และไม่เพียงเท่านั้นเพราะตัวเอกประจำภาคอย่าง Alexios (อเล็กซิออส) หรือ Kassandra (คาสซานดร้า) ก็สืบเชื้อสายมาจากลีโอนีดัสและได้รับสืบทอดปลายหอกชำรุดของลีโอนีดัสที่เป็นหนึ่งใน Isu Artifact มาด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราเลยอยากมาขอนำเสนอประวัติโดยคร่าวๆ ของลีโอนีดัสผู้มีบทบาทเบื้องหลังในเกมภาคนี้ให้ได้อ่านกันครับ
----------------------------
ลีโอนีดัสนั้นเป็นบุตรชายของราชาแห่งสปาร์ตานั่นคือ Anaxandrides (อนาซันไดรดีส) โดยลีโอนีดัสขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพี่ชายต่างมารดาของตนนั่นคือ Cleomenes I (คลีโอมีนีสที่หนึ่ง) เสียชีวิตในปีที่ 490 ก่อนคริสตกาลโดยหาได้มีทายาทชายแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตนั้น บันทึกกล่าวไว้ว่าในปีนั้นคลีโอมีนีสจำต้องหลบหนีออกไปจากสปาร์ตาเนื่องจากตนวางแผนลอบสังหาร Demaratus (ดีมาราตุส) ผู้เป็นราชาที่ครองบัลลังก์ร่วมกับตน ทว่าภายหลังจากที่คลีโอมีนีสเริ่มรวบรวมสรรพกำลังในบริเวณใกล้เคียงได้ ชาวสปาร์ตาก็ยินยอมให้คลีโอมีนีสกลับเข้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามบันทึกของเฮโรโดตุสระบุเอาไว้ว่า ในคราวนั้นคลีโอมีนีสได้มีสภาวะเสียสติไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ลีโอนีดัสผู้เป็นพี่น้องจึงได้ออกคำสั่งให้จองจำคลีโอมีนีสเสีย และไม่นานนักคลีโอมีนีสก็ถูกพบเป็นศพอยู่ในห้องคุมขังและสาเหตุการตายก็ถูกลงความเห็นว่าเป็นการทำอัตวินิบาตกรรมไปโดยปริยาย
เมื่อขึ้นครองบัลลังก์แล้ว ลีโอนีดัสก็เป็นทั้งผู้นำทางการทหารรวมถึงผู้นำทางการเมือง ซึ่งก็แน่นอนว่าเขาได้รับการฝึกฝนทั้งกายและจิตใจตั้งแต่ยังเยาว์วัยเฉกเช่นเดียวกับพลเมืองสปาร์ตาผู้อื่นเพื่อเติบโตเป็นนักรบ Hoplite (ฮอปลีต) ฝีมือฉกาจ นักรบฮอปลีตนั้นเข้าสู่สมรภูมิโดยโล่ทรงกลม, หอกยาวและดาบสั้น แต่พวกเขามีชื่อเสียงจากชบวนรบ Phalanx (แฟแลงซ์) อันโด่งดัง ที่ซึ่งเหล่านักรบฮอปลีตจะยืนเคียงข้างกันให้โล่ประชิดติดซ้อนกันประหนึ่งกำแพง และเมื่อใดที่ข้าศึกโจมตีจากด้านหน้า กำแพงโล่ก็จะคอยปกป้องเหล่านักรบได้อย่างดีเยี่ยม หากแต่ถ้าขบวนรบดังกล่าวแตกลงเมื่อใดหรือหากข้าศึกจู่โจมจากด้านข้างหรือด้านหลัง ก็จะมีโอกาสแตกพ่ายในทันที
-------------------------------
กรีซโบราณนั้นประกอบไปด้วยนครรัฐต่างๆ มากมายนับร้อย แต่นครรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น Athens (เอเธนส์) และสปาร์ตานี่เอง หากแต่แม้ว่าบรรดานครรัฐเหล่านี้จะปะทะกันเองอยู่เป็นนิจเพื่อแย่งชิงดินแดนและทรัพยากร เมื่อยามที่กองทัพภายนอกเข้ารุกรานเมื่อใดพวกเขาก็จะจับมือกันเพื่อร่วมต้านศึกทันที ซึ่งในช่วงต้นของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลนี่เอง ทัพ Persia (เปอร์เซีย) ได้พยายามเข้ารุกรานกรีซถึงสองครั้งสองครา ในปี 490 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์แห่งเปอร์เซียในขณะนั้นคือ Darius I (ดาริอุสที่หนึ่ง) ได้ริเริ่มก่อการรุกรานที่เรียกขานกันว่า First Persian War (สงครามเปอร์เซียครั้งแรก) ทว่าทัพผสมของกรีซได้ขับไล่ทัพเปอร์เซียได้สำเร็จใน Battle of Marathon (การศึกที่มาราธอน) จากนั้นสิบปีต่อมา ในช่วง Second Persian War (สงครามเปอร์เซียครั้งที่สอง) หนึ่งในบุตรชายของดาริอุสนั่นคือ Xerxes I (เซอร์ซีสที่หนึ่ง) ได้เริ่มเข้ารุกรานกรีซอีกคำรบหนึ่ง
-----------------------------
ภายใต้รัชสมัยของเซอร์ซีสที่หนึ่งนี้ กองทัพเปอร์เซียได้ยาตราลงทิศใต้ผ่านชายฝั่งตะวันออกของกรีซ โดยที่มีทัพเรือเปอร์เซียล่องประกบมาตลอดแนวฝั่ง หากแต่การจะไปถึงจุดหมายที่ Attica (แอตติก้า) อันเป็นแว่นแคว้นใต้การปกครองของนครรัฐเอเธนส์ได้นั้น กองทัพเปอร์เซียจำต้องเคลื่อนทัพผ่านช่องแคบริฝั่งของ Thermopylae (เธอร์โมพีเล) อันมีอีกชื่อหนึ่งว่า Hot Gates (ประตูแห่งความร้อน) จากแหล่งน้ำพุร้อนในบริเวณใกล้เคียง และในช่วงปลายฤดูร้อนปี 480 ก่อนคริสตกาลนี่เอง ที่ลีโอนีดัสได้นำกองทัพกรีซที่มีกำลังพลราว 6,000-7,000 นายจากหลายนครรัฐ ซึ่งก็รวมถึงนักรบสปาร์ตาจำนวน 300 รายเคลื่อนพลไปยับยั้งทัพเปอร์เซียไม่ให้ผ่านเธอร์โมพีเลไปได้เด็ดขาด
ลีโอนีดัสได้ตั้งกระบวนทัพของตนที่เธอร์โมพีเล โดยคาดการณ์ว่าด้วยเส้นทางอันคับแคบดังกล่าวจะเป็นการบีบให้ทัพเปอร์เซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตรงเข้ามาปะทะกับทัพของตนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความจริงเช่นนั้น เพราะทัพกรีซสามารถต้านทานการจู่โจมจากทัพข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่าเหลือคณานับได้เป็นเวลาสองวันเต็ม กระนั้น แม้ว่ายุทธศาสตร์ของลีโอนีดัสจะได้ผลในคราวแรก ลีโอนีดัสกลับคาดไม่ถึงว่ามีเส้นทางลับผ่านเทือกเขาฝั่งตะวันตกของเธอร์โมพีเลที่จะทำให้ทัพข้าศึกอ้อมผ่านปราการของตนไปได้ สาเหตุที่ทัพเซอร์ซีสทราบเส้นทางลับดังกล่าว ก็เพราะมีชาวกรีซที่บอกให้เซอร์ซีสทราบและนำพากองทัพเปอร์เซียเข้าเส้นทางดังกล่าวอย่างง่ายดาย จนทัพเปอร์เซียสามารถล้อมทัพกรีซได้สำเร็จ
ในคราวนั้นทหารของทัพกรีซจำนวนมากต่างล่าถอยและทิ้งศึก ไม่ยอมเผชิญหน้ากับทัพเปอร์เซียอันมีจำนวนมหาศาล เหลือเพียงทัพสปาร์ตา, ทัพ Thespiae (เธสพิเอ) และทัพ Thebes (ธีบส์) เท่านั้นที่ยืนหยัดต่อกรกับทัพเปอร์เซีย สุดท้าย ณ สถานที่แห่งนี้เองจึงเป็นสถานที่ทอดร่างทิ้งชีวิตของลีโอนีดัสและกองทัพสปาร์ตา 300 นายของเขาไปด้วยกัน รวมถึงพันธมิตรรายอื่นๆ ที่ยืนหยัดต่อสู้โดยไม่ถอยหนี ซึ่งหลังจากชนะศึกแล้วทัพเปอร์เซียก็ได้ทำการตัดศีรษะของลีโอนีดัสออกเพื่อทำการหยามเกียรติอย่างรุนแรง
----------------------------
การสละชีพของลีโอนีดัสและนักรบฮอปลีตของเขา ไม่ได้หยุดยั้งการยาตราทัพของเปอร์เซียเลย เพราะทัพเปอร์เซียสามารถเคลื่อนพลตามแนวชายฝั่งเข้าสู่ Boeotia (โบเอโอเทีย) ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนปี 480 ก่อนคริสตกาล ทัพเรือของเอเธนส์ก็สามารถเอาชนะทัพเปอร์เซียได้ใน Battle of Salamis (การศึกที่ซาลามิส) และความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นก็บีบให้ทัพเปอร์เซียต้องยกทัพกลับในที่สุด ถึงกระนั้น การเสียสละของลีโอนีดัสก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสปาร์ตาที่ยอมสละตนเพื่อปกป้องดินแดนแคว้นของกรีซอย่างเต็มที่
ชื่อเสียงเกียรติภูมิของลีโอนีดัสนั้นเกริกไกรไม่รู้ลืมจากการสละตนดังกล่าว ซึ่งกรีซโบราณนั้นมีประเพณีในการบูชาวีรบุรุษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา และสถานที่บูชาก็มักเป็นจุดที่ฝังร่างของวีรบุรุษเหล่านั้นในฐานะที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ โดยสี่สิบปีหลังจากสิ้นสุดศึกที่เธอร์โมพีเลนั้น ชาวสปาร์ตาได้รวบรวมซากสังขารของลีโอนีดัส (หรืออย่างน้อยพวกเขาก็เชื่อแบบนั้น) และสร้างวิหารเพื่อเป็นเกียรติแด่ลีโอนีดัสในที่สุด
ที่มา
https://www.history.com/topics/ancient-history/leonidas
https://en.wikipedia.org/wiki/Cleomenes_I#Exile_and_death
darius wiki 在 Darius - Wikipedia 的相關結果
Persian royalty[edit] · Darius (son of Xerxes I), crown prince of Persia, may have ruled briefly in 465 BC · Darius, son of Artaxerxes II, crown prince and junior ... ... <看更多>
darius wiki 在 Darius - Liquipedia League of Legends Wiki 的相關結果
Darius leaps to an enemy champion and strikes a lethal blow, dealing true damage. This damage is increased for each stack of Hemorrhage on the ... ... <看更多>
darius wiki 在 Darius - League of Legends Wiki 的相關結果
God-King Darius is a bringer of true carnage—the descendant of primordial deities long forgotten in the shadow of Demacia. Slaughtering monarchs and gods alike, ... ... <看更多>