“รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย"
ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) หมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้นอำนาจในการปกครองของรัฐบาล (ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ) ที่มาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากประชาชนและมีอำนาจจำกัดเพียงเท่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อาจแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ ประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยทางผู้แทน และประชาธิปไตยทางตรงกับทางผู้แทนผสมผสานกัน ซึ่งเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนหรือประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรง” ดังนี้
1.การปกครองระบอบประชาธิปไตยทางตรง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหาต่างๆของตนทุกเรื่อง ขอบเขตของการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกรณีนี้จึงมีอำนาจอธิปไตยของแต่คนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเล็กๆที่มีประชาชนไม่มากและปัญหาหรือเรื่องที่จะตัดสินใจไม่ยุ่งยาก จะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจอธิปไตยรูปแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งในสมัยดังกล่าวประชาชนมีจำนวนน้อย สามารถที่จะเรียกประชุมหรือนัดหมายกันได้ง่าย เพื่อออกความเห็นหรือตัดสินปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการปกครองประเทศหรือรัฐ ปัญหาเกี่ยวกับการออกกฎหมายสำคัญๆ หรือแม้แต่การเลือกตั้งบุคคลสำคัญของรัฐ
ดังนั้นการเรียกประชุมนัดหมายประชาชนจึงกระทำได้ง่าย แต่ในปัจจุบันประชาชนพลเมืองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และการปกครองการบริหารราชการแผ่นดินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นยากแก่การให้ประชาชนทั้งหลายมาประชุมรวมกันได้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
ในปัจจุบันการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงนี้ยังใช้อยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับบางมลรัฐ ที่เรียกว่า “Canton”มีอยู่ 3 มลรัฐ กล่าวคือ 1 ปี ประชาชนก็มาประชุมกันพิจารณาออกกฎหมายหรือจัดระเบียบภาษีอากร เสร็จแล้วก็เป็นหน้าที่กรรมการของมลรัฐที่จะทำงานต่อไปตามนั้นหรือในประเทศลิกเตนสไตล์เป็นรัฐเล็กๆ ในยุโรปที่มีประชากรประมาณ 36,000 คน เป็นต้น
ข้อสังเกต การใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะในท้องที่ที่มีพลเมืองน้อยและมีความเจริญในทางจิตใจใกล้เคียงกัน แต่ถ้าท้องที่ใดมีพลเมืองมากก็ย่อมเป็นการยากที่จะใช้วิธีนี้มาประชุมออกเสียงจัดทำกฎหมายไjด้ ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆจึงไม่นิยมใช้การอำนาจอธิปไตยทางตรงและหันมาใช้อำนาจอธิปไตยทางผู้แทนมาใช้ในการปกครองประเทศ
2.การปกครองระบอบประชาธิปไตยทางผู้แทน
การปกครองระบอบประชาธิปไตยทางผู้แทน (Representative Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้แทนหรือตัวแทนเป็นผู้ตัดสินใจและแก้ปัญหาแทนตน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยอ้อมเหมาะสมสำหรับชุมชนขนาดใหญ่มีประชากรมาก ปัญหาที่จะแก้ไขหรือเรื่องที่จะตัดสินใจก็มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก จึงจำเป็นต้องเลือกตัวแทนเพื่อทำหน้าที่แทนตน โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนเท่านั้น
จุดอ่อนสำคัญของประชาธิปไตยโดยอ้อม ก็คือ ไม่มีหลักประกันว่าการตัดสินใจของตัวแทนจะสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน เนื่องจากเห็นว่ามีผู้แทนซึ่งจะทำหน้าที่แทนตนอยู่แล้ว เมื่อขาดการติดตามและตรวจสอบจากประชาชน ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ปกครองและผู้บริหารซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมีแนวโน้มที่จะปกครองและบริหาร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สาระสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตยโดยอ้อมหรือโดยทางผู้แทน คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) แต่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยตรง จึงมีการมอบอำนาจให้กับตัวแทนประชาชน ซึ่งลักษณะสำคัญของการปกครองโดยทางผู้แทน คือ
1) ประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยของตนให้ตัวแทนไปใช้แทนตน
2) การมอบอำนาจอธิปไตยต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง (Election) ภายใต้ระบบการแข่งขัน (Competition)
3) ตัวแทนของประชาชนมีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) กำหนดไว้เท่านั้น
4) เป็นการมอบอำนาจให้กับผู้แทนอย่างมีเงื่อนไข หากผู้แทนใช้อำนาจนอกขอบเขตของกฎหมาย ใช้อำนาจโดยพลการหรือโดยบิดเบือนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยย่อมเรียกคืนได้
แต่อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจอธิปไตยโดยอ้อมหรือผ่านทางผู้แทนกลับพบข้อบกพร่องและจุดอ่อนอยู่หลายประการ ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลขาดความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายกับการเมือง จึงได้มีแนวคิดการใช้อำนาจอธิปไตยกึ่งทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมา กล่าวคือ ผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยทางผู้แทนขึ้นมาเพื่อแก้ไขความบกพร่องระบอบประชาธิปไตยทางผู้แทน
3. การปกครองระบอบประชาธิปไตยกึ่งโดยตรง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยกึ่งโดยตรงของประชาชน (semi-Direct Democracy) หรือเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในรูปแบบผสม รูปแบบนี้มีหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยอ้อมหรือทางผู้แทนและอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยตรง เข้ามาใช้รวมกัน โดยประชาชนยังสงวนสิทธิที่จะใช้ อำนาจอธิปไตยทางตรงในบางเรื่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วประชาชนได้มอบหมายให้ตัวแทนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน กล่าวคือ การใช้อำนาจอธิปไตยรูปแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ใช้สิทธิอำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการบริหารปกครองประเทศโดยการจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้แต่การตรากฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน นอกจากจะให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม โดยเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง และเรื่องสำคัญอื่นๆโดยการใช้อำนาจอธิปไตยได้โดยตรง เช่น การให้ประชาชนใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา สิทธิในการออกเสียงประชามติหรือแม้แต่การให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อถอดถอนตำแหน่งสำคัญของผู้บริหารหรือผู้ปกครองประเทศ เป็นต้น
ดังนั้นเห็นได้ว่าการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแบบมีส่วนร่วมหรือแบบผสมระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยทางอ้อมเข้าด้วยกันหรืออาจเรียกว่า “การใช้อำนาจอธิปไตยกึ่งทางตรง” เพื่อรักษาส่วนแบ่งพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในกรอบที่สามารถรักษาดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยทางอ้อม และยึดโยงเข้ากันได้กับความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนด้วย ซึ่งต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและความสามารถในการสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเมืองของประชาชน (Political efficacy) ได้แก่ องค์ประกอบของหลักการในการกระจายอำนาจและการร่วมตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนหรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรมสำคัญในทางการเมือง เป็นต้น
ดังนั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมในการปกครองประเทศในปัจจุบัน ส่วนประชาธิปไตยทางตรงนั้นเป็นตัวเสริมหรือสนับสนุนการมีประชาธิปไตยทางอ้อมหรือทางผู้แทน ซึ่งเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” อันเป็นการผสมผสานแนวความคิดของทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนกับอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. “แนวคิดทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชนในเลือกตั้งผู้แทน เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ที่จะไปเลือกตั้งหรือไม่ไปเลือกตั้งผู้แทน แต่ “แนวคิดตามทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ” เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นเรื่องของ “หน้าที่” ที่ต้องไปเลือกตั้งผู้แทน
2. แนวความคิดของทั้ง 2 ทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่อมองในแง่ปรัชญาทางกฎหมายมหาชนแล้วเห็นได้ว่า ทั้ง 2 ทฤษฎีมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องของอำนาจอธิปไตยที่ไปด้วยกันได้ เพราะแนวคิดที่กล่าวว่า ชาตินั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แตกต่างกับแนวคิดที่ว่าประชาชนแต่ละคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนละหนึ่งส่วนโดยสิ้นเชิง รัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันจึงให้การยอมรับแนวความคิดผสมผสานทั้ง 2 ทฤษฎีดังกล่าว
ปัจจุบันได้มีการนำแนวความคิดของทั้ง 2 ทฤษฎีมาใช้ร่วมกัน และพยายามที่จะทำให้แนวคิดทั้ง 2 ไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น ในหลายๆประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชน คือ หัวใจในการพยายามที่จะดึงจุดเด่นจุดด้อยของทั้ง 2 ทฤษฎีออกมาเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกันของการปกครองในระบอบดังกล่าว ประชาชนซึ่งมีสิทธิและมีเสียงในการปกครองประเทศ เสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ที่ฝ่ายตัวแทนของประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องฟังเสียงของประชาชน นอกจากนี้ยังรวมถึงกระบวนการเสริมต่างๆที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองโดยตรงด้วย
ดังนั้นจึงนิยามความหมายของประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ ระบบการปกครองที่สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ตรากฎหมายและลงมติในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการ การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ในการบริหารกิจการบ้านเมืองในบางเรื่อง เช่น การแสดงประชามติ (Referendum) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (Initiative Process) การถอดถอน (Recall) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เป็นต้น
representative democracy คือ 在 sittikorn saksang Facebook 的最佳貼文
กฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐควบคุมคนในสังคมที่เกี่ยวพันในขอบของกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ
แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยหลักนิติรัฐความคิดเรื่องหลักนิติรัฐ (Legal State) เป็นความคิดของประชาชนที่ฝักใฝ่ “ลัทธิปัจเจกนิยม” (Individualism) และรัฐธรรมนูญของรัฐภายใต้แนวคิดที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) ในประเทศเยอรมัน แนวคิดนี้ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีนักคิดในประเทศเยอรมัน คือ อิมานูเอล คานท์ (Imanuel Kant) ได้กล่าวถึงลักษณะนิติรัฐว่าเป็น กฎที่เป็นเหตุเป็นผลครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิปัจเจกชนภายในขอบเขตของกฎหมายเดียวกัน การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตัดสินคดีความควรเกิดจากองค์กรและกระบวนการที่เป็นอิสระจากกัน และเป็นกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านองค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจทางปกครองและองค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปกป้องราษฎร
ดังนั้น “รัฐ” ที่เป็นนิติรัฐนี้ต้องมีบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐควบคุมคนในสังคมรับรองสิทธิเสรีภาพของราษฎร การออกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตัดสินคดีความควรเกิดจากองค์และกระบวนการที่เป็นอิสระจากกันภายใต้ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” (separation of Powers) และ “รัฐ” มีฐานะเป็นคนรับใช้ของสังคมโดยถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าการ “รัฐ” จะต้องเคารพต่อเสรีภาพต่าง ๆ ของราษฎรได้มีวิธีเดียว คือ “รัฐ” ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายโดยเคร่งครัดเท่านั้น และตราบใดที่กฎหมายยังใช้อยู่กฎหมายนั้นก็ผูกมัด “รัฐ” อยู่เสมอ และโดยที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ราษฎรเป็นองค์กรของรัฐในการบัญญัติกฎหมายโดยตรง (สำหรับ “รัฐ” ที่ใช้หลัก “ประชาธิปไตยโดยตรง” (Direct Democracy)) หรือทำโดยให้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรมาออกกฎหมายมาแทนตน (สำหรับ “รัฐ” ที่ใช้หลัก “ประชาธิปไตยทางผู้แทน” (Representative Democracy)) การที่ “รัฐ” ให้สิทธิเสรีภาพและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรได้นั้นต้องรับความยินยอมของราษฎร มีข้อพิจารณาดังนี้
1.1 รูปแบบของหลักการปกครองแบบนิติรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองประเทศและที่เกี่ยวพันในขอบของกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ”
หลักการปกครองแบบนิติรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองประเทศและที่เกี่ยวพันในขอบของกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” นั้นจะต้องเป็นหลักการปกครองแบบนิติรัฐทั้งในเชิงรูปแบบและในเชิงเนื้อหา ดังนี้
1.1.1 การปกครองโดยนิติรัฐในเชิงรูปแบบ
การปกครองโดยนิติรัฐในเชิงรูปแบบ เป็นรัฐที่มีการบัญญัติกฎหมายกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐควบคุมคนในสังคมออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายของบ้านเมือง (Positive Law) และมีสภาพบังคับกับราษฎรทุกคน ในแง่นี้รัฐทุกรัฐในปัจจุบันย่อมเป็นนิติรัฐ เนื่องจากมีการตรากฎหมายออกมามอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ใช้บังคับกับประชาชนทั้งสิ้น อาจเรียกว่าเป็น “การปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ” (Rule by Law) เป็นการปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) มุ่งหมายที่จะประกันความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะบุคคลและความมั่นคงของระบบกฎหมาย
1.1.2 การปกครองโดยนิติรัฐในเชิงเนื้อหา
การปกครองโดยนิติรัฐในเชิงเนื้อหา นิติรัฐจึงเป็นระบบกฎหมายที่กฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐควบคุมคนในสังคมมีความมุ่งหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชนจากการกระทำโดยอำเภอใจของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ เพราะรัฐได้ยอมตนอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายและยอมผูกพันการกระทำใด ๆ ของตนกับกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่รัฐได้ตราขึ้นแต่ต้องเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้น ดังนี้
1. อาศัยวิถีทางประชาธิปไตย คือ การตรากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายมอบให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
2. เนื้อหาของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรามอบให้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ต้องไม่ฝ่าฝืนหลักกฎหมายทั่วไปอันเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ ภายใต้หลักสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนและหลักความเสมอภาค เป็นต้น มีบทบัญญัติที่รับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนตั้งอยู่บนหลักการที่เคารพการใช้สิทธิและรักษาเสรีภาพของประชาชน โดยทั่วไปกฎหมายที่บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กล่าวมานี้ ได้แก่ กฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน คือ รัฐธรรมนูญ จึงสามารถให้หลักประกันแก่สถานภาพทางกฎหมายของประชาชนที่เป็นฐานอำนาจแห่งการตรากฎหมาย
1.2 สาระสำคัญของหลักนิติรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองประเทศและที่เกี่ยวพันในขอบของกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ”
แนวคิดเรื่องหลักนิติรัฐนี้ผู้เขียนจะอธิบายถึงรัฐที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ปรากฏทั้งนิติรัฐในเชิงรูปแบบและนิติรัฐในเชิงเนื้อหาและมีใช้แพร่หลายในประเทศภาคพื้นยุโรปหรือประเทศที่ใช้ระบบซิวิลลอว์ (Civil Law) เช่น ในประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอิตาลี เป็นต้น อาจสรุปสำคัญได้ ดังนี้
1.2.1 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจะถูกบัญญัติรับรองไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นถือเป็นที่มาของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นบ่อเกิดกฎหมายสำคัญลำดับแรกเป็นฐานแห่งอำนาจในการออกกฎหมายในระดับกฎหมายบัญญัติ กฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” โดยมีองค์กรตุลาการหรือศาลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติหรือเกิดจากการใช้อำนาจบริหารโดยใช้ “ระบบไต่สวน” ในการพิจารณาคดี
เมื่อพิจารณาศึกษาถึง “ระบบไต่สวน” (Inquisitorial System) พิจารณาคดี ซึ่ง ระบบไต่สวน หมายถึง กระบวนการพิจารณาคดีที่ตกเป็นหน้าที่ของศาลแต่ผู้เดียวที่จะสืบค้นข้อเท็จจริงแห่งคดี พยานหลักฐานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่คู่กรณีนำไปสู่ศาล จะไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะถือว่าเป็นพยานหลักฐานของศาลทั้งสิ้น ศาลจะทำหน้าที่พิสูจน์พยานหลักฐานที่นำไปสู่ศาลนั้น ว่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด การนำสืบพยานบุคคล ศาลเป็นผู้ซักถามแต่ผู้เดียว แต่ไม่มีการถามค้าน หรือถามติง ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนจะมีลักษณะเฉพาะอยู่ 2 ประการ ดังนี้
1. กระบวนการพิจารณาคดีมักทำโดยลับและพิจารณาจากพยานเอกสารเป็นหลักพยานเอกสารทุกฉบับที่ใช้อ้างใช้จะประกอบการพิจารณาเป็นเอกสารของรัฐ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อองค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครอง หรือความมั่นคงของรัฐ จึงไม่อาจนำเปิดเผยต่อสาธารณะชนได้
2. ศาลจะเป็นผู้ดำเนินกระบวนการวิธีพิจารณาเอง คดีความผิดตามกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่จะมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งอยู่ในความครอบครองของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชนที่เสียหายหรือเอกชนผู้ถูกฟ้องไม่อาจนำมาพิสูจน์ต่อศาลได้ ตรงข้ามองค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจนำข้อความ ในเอกสารนั้นมาอ้างได้ เอกชนจึงอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ฉะนั้น เพื่อความยุติธรรมศาลจึงต้องดำเนินการเสียเอง และศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดีข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ
1.2.2 รัฐจะกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวพันในขอบเขตของกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ที่มีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจกระทำการ
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงรัฐจะกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวพันในขอบเขตของกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ที่มีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจกระทำการ กฎหมายที่ให้อำนาจนั้นจะต้องเป็นระบบกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนปราศจากการกระทำโดยอำเภอใจของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ เพราะรัฐได้ยอมตนอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายและยอมผูกพันการกระทำใด ๆ ของตนกับกฎเกณฑ์ของกฎหมายตามลำดับชั้นต่าง ๆ ที่รัฐได้ตราขึ้นไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ รวมหลักเกณฑ์วิธีการ ซึ่งรัฐจะกระทำได้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายเสมอ ตามหลักกฎหมายมหาชน (Public Law) ที่กล่าวว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” กล่าวคือ ฝ่ายบริหารกระทำการออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ในนามรัฐได้นั้นต้องมีกฎหมายกำหนดให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ”
เมื่อพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบในรายละเอียดปลีกย่อยถึงหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” ภายใต้หลักการปกครองแบบนิติรัฐ (Legal State) ในระบบกฎหมายปกครองของกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป จะพบว่าแหล่งที่มาของอำนาจในการใช้อำนาจปกครอง มีดังนี้
1. กฎหมายต้องมาจากองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติหรือกฎหมายระดับรัฐบัญญัติ เว้นแต่ในบางประเทศที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ฝ่ายบริหารสามารถออก “กฎหมายในระดับกฎหมายบัญญัติ” หรือออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ได้ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และประเทศอิตาลี เป็นต้น ส่วนประเทศอื่นไม่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารสามารถออก “กฎหมายในระดับกฎหมายบัญญัติ” หรือ กฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” เช่น ประเทศเยอรมัน ประเทศสเปน เป็นต้น
2. การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ต้องมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการให้ใช้อำนาจบางประการที่ให้ประโยชน์แก่บุคคล (ถือว่าเป็นคุณ) เจ้าหน้าที่องค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจ แต่สำหรับประเทศออสเตรียยึดหลักอย่างเคร่งครัดถือว่า “ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่องค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองจะกระทำการใดๆไม่ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นผลดีหรือผลร้ายแก่บุคคลก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ”
3. กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อ้างว่ามี “คำสั่งทางปกครองนั้นออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ” ประเทศฝรั่งเศสให้ “อำนาจศาลปกครอง” เป็นผู้วินิจฉัย แต่ประเทศเยอรมัน ประเทศออสเตรีย ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศอิตาลี ประเทศสเปน ประเทศโปรตุเกส ถือว่าเป็น “อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ”
ด้วยเหตุนี้เมื่อใดที่องค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองจะดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หน้าที่หรือประโยชน์ของเอกชน จะต้องตรวจสอบดูก่อนเสมอว่ามีกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับใดให้อำนาจกระทำการในการออำกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” หรือไม่ หากไม่มีกฎหมายหรือกฎหมายที่ให้อำนาจกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดการใช้อำนาจไว้ องค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจจากรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะกลายเป็น “รัฐตำรวจ” (Police State) ทันที
เมื่อพิจารณาศึกษาถึง “รัฐตำรวจ” เป็นรัฐมอบให้ที่องค์กรเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจปกครองมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจอย่างมหาศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถกำหนดมาตรการทางกฎหมายใด ๆ ขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนได้ตามที่เห็นสมควรโดยอิสระและด้วยความริเริ่มของตนเอง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่งๆ และเพื่อให้บรรลุวัตถุที่ประสงค์ของรัฐ โดยสรุปแล้ว รัฐตำรวจตั้งอยู่บนแนวคิดที่เชื่อว่า “เป้าหมาย” (Ends) สำคัญกว่า “วิธีการ” (Means) เสมอ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจะใช้วิธีการอย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ดังนั้นในรัฐตำรวจประชาชนจึงเสี่ยงภัยกับ “การกระทำตามอำเภอใจ” (Arbitrary) ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่อาจคาดหมายผลของการกระทำของตนได้
1.2.3 การวางหลักการแบ่งแยกอำนาจ
การแบ่งแยกอำนาจการใช้อำนาจขององค์กรออกจากกันตาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” (Separation of Powers) ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางด้านนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรากฎหมายใช้บังคับหรือตรากฎหมายมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ด้านบริหารทำหน้าที่นำกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราให้ฝ่ายบริหารไปใช้บังคับ หรือออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ในการบริหารราชการแผ่นดิน และด้านตุลาการทำหน้าที่ในการระงับขี้ขาดข้อพิพาทความขัดแย้งของคนในสังคมตามกฎหมาย ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจการตรากฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารจะออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ได้นั้นจะต้องมีกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองที่มีฐานะเป็น “กฎ” ในการบริหารราชการแผ่นดิน
representative democracy คือ 在 sittikorn saksang Facebook 的最佳解答
อีกครั้ง
“เผด็จการ (Dictator) : เผด็จการอำนาจนิยมในสังคมไทย”
ผมได้ค้นคว้าเกี่ยวกับ คำว่า “เผด็จการ” เจอบทความหนึ่งทึ่ เขียนโดย อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์ ( Published on Fri, 2014-10-03 17:15) บทความนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจมาก อธิบายเกี่ยวกับข้องกับคำว่า “เผด็จการ” และผมได้ค้นคว้าวิเคราะห์ถึงระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในสังคมไทยในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ชอบคำว่า “เผด็จการ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำไม่ค่อยสุภาพในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับคำว่า"ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" เป็นแน่ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 น่าจะพอใจกับคำเรียกอื่นแทนอัตลักษณ์ของตัวท่านอย่างเช่น "นักปกครองผู้เด็ดขาด" หรือ "ผู้รับใช้บ้านเมืองที่ร้องขอ (บังคับ)ให้ประชาชนยอมสละเสรีภาพเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ (ซึ่งจะมีเมื่อไรก็ไม่ทราบ) " หรืออะไรก็ได้ที่ไม่มีคำว่า “เผด็จการ” เจือปนอยู่เป็นอันขาด ดังจะดูได้จากพฤติกรรมหนึ่งที่ท่านทำในสิ่งที่เผด็จการไม่ค่อยทำได้แก่ การกล่าวคำโทษและการไหว้นักข่าว
ต่อไปนี้เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับคำว่า “เผด็จการ” หรือคนๆ เดียวที่มี “อำนาจสูงสุด” ไร้การถ่วงดุล การโต้แย้งหรือการตรวจสอบและมักมีการปกครองที่เลวร้ายโหดเหี้ยม คำเหล่านั้นแม้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็ความหมายก็มีความใกล้เคียงหรือทับซ้อนกัน บทความนี้ยังต้องการเชิญชวนให้ผู้อ่านตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์นั้นเหมาะสมหรือเข้าข่ายคำไหนที่สุดมากที่สุด (หากมองว่าการไหว้หรือการขอโทษเป็นการแสดงทางการเมืองอย่างหนึ่ง)
ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการ” อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์ ( Published on Fri, 2014-10-03 17:15) ได้เขียนอธิบายไว้ ดังนี้
1.Dictator
Dictator เป็นคำภาษาอังกฤษของ “เผด็จการ” ที่ได้รับคำนิยมมากที่สุด มาจากคำกิริยาที่ว่า dictate มีความหมาย คือ บีบบังคับหรือกดดันให้คนอื่นกระทำตามที่ตัวเองต้องการ คำว่า dictator ในสมัยยุคสาธารณรัฐโรมันกลับเป็นคำที่ยกย่อง บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น dictator คือคนที่นักปกครองสูงสุดหรือกงศุลได้เลือกให้มีอำนาจโดยเด็ดขาดผ่านการรับรองของสภาแต่เพียงชั่วคราวเพื่อนำพาอาณาจักรให้รอดพ้นจากภัยอันใหญ่หลวงเช่นสงครามและมักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน แต่ในยุคใหม่ dictator เป็นคำที่ไม่สู้ดีนักอันมีสาเหตุมาจากผู้นำเผด็จการในลัทธิฟาสซิสต์ของเยอรมัน อิตาลีและญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากนี้คำว่า Dictator มักถูกโยงเข้ากับทหาร เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ประเทศในโลกที่ 3 จำนวนมาก ทหารได้ทำรัฐประหารและเข้ามาเป็นผู้ปกครองเสียเองดังคำศัพท์ว่า Military dictatorship หรือรัฐบาลเผด็จการทหาร (หากเราเติมคำว่า ship ต่อท้ายก็จะหมายถึงการปกครองแบบเผด็จการ) สำหรับในด้านวัฒนธรรมได้แก่ภาพยนตร์ของชาร์ลี แชปลินที่สร้างขึ้นมาล้อเลียนฮิตเลอร์ในปี 1940 เรื่อง The Great Dictator หรือภาพยนตร์เรื่อง Banana ของวูดดี อัลเลนที่ล้อเลียนเผด็จการในอเมริกาใต้ในปี 1971 ซึ่งสะท้อนว่ามุมมองของชาติตะวันตกต่อเผด็จการเหล่านั้นในด้านลบ
อนึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยก็เป็นเผด็จการได้ดังเช่น Elective Dictatorship หรือ Parliamentary Dictatorship อันหมายถึง รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาจนสามารถผูกขาดการออกกฏหมายหรือทำการใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจของหัวหน้ารัฐบาล คำนี้เป็นสมญานามที่กลุ่มเสื้อเหลืองหรือกปปส.ใช้ในการโจมตีทักษิณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าดีใจว่าเมืองไทยในปัจจุบันไม่มีเผด็จการเช่นนี้อีกต่อไป เพราะมี Military dictatorship แทน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าศัพท์อีกคำที่ ฯพณฯ อดีตผู้บัญชาการทหารบกน่าจะยิ้มได้หากฝรั่งเรียกท่านว่า Benevolent dictator (เผด็จการใจดี) หรือผู้ใช้อำนาจเด็ดขาด (อย่าใช้คำว่าเผด็จการนะ) ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาหรือความปรารถนาในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ อย่างเช่น ลี กวนยิวหรือ โจเซฟ ติโต แต่จะให้ดีต้องถามประชาชนผ่านการทำโพลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสกว่าปัจจุบันนี้สักร้อยเท่าว่าท่านสมควรจะได้สมญานี้หรือไม่
2.Tyrant
Tyrant หมายถึง “ทรราช” เรามักใช้คำนี้กับผู้ปกครองในอดีตเช่นจักรพรรดิหรือกษัตริย์ที่มีพฤติกรรมโหดร้ายมากกว่าเผด็จการแม้ว่าจะมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน (สำหรับการปกครองหรือรัฐบาลเช่นนี้ เราจะใช้คำว่า tyranny) กระนั้นก็มีคนหันมาใช้กับเผด็จการในยุคใหม่อยู่บ่อยครั้งดังเช่นเรียกจอมพลถนอม กิติขจร จอมพลประพาส จารุสเถียรและพันเอกณรงค์ กิติขจรในยุคเรืองอำนาจ ว่าสามทรราช หรือตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจ ก็มีผู้ใช้คำนี้เพื่อโจมตีเขาในเชิงขบขันดังเช่น “ทรราชหน้าเหลี่ยม” ทั้งที่มองความจริงแล้วทักษิณทำได้ก็เพียงผลักดันให้ประเทศกลับไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตยเทียม” เพราะอำนาจของเขามีอยู่อย่างจำกัดมากจากการถ่วงดุลโดยฝ่ายอำมาตย์หรือกลุ่มผลประโยชน์เก่า
สำหรับการปกครองเช่นนี้นักปรัชญาอาริสโตเติลถือว่าเป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดซึ่งอยู่ขั้วตรงกันข้ามกับ Kingship หรือราชานักปราชญ์ผู้ปกครองที่เน้นประโยชน์แก่ปวงชน
3. Despot
Despot หมายถึง ทรราชเช่นกัน ซึ่งถูกใช้ในด้านดีหากผู้ปกครองสูงสุดผู้นั้นอิงแอบการปกครองของตนที่เน้นหลักการมากกว่าเรื่องของอารมณ์หรือผลประโยชน์ส่วนตน อย่างเช่น Enlightened Despotism อันมีคำแปลภาษาไทยคือ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อันทรงภูมิธรรมหรือกษัตริย์ผู้มีอำนาจเด็ดขาดแต่ใช้อำนาจในการปฏิรูปหรือสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในด้านต่างๆ อย่างมากมายโดยตั้งอยู่บนปรัชญาในยุคแสงสว่าง (Enlightenment Age) ดังเช่นพระเจ้า ฟริดริกที่ 2 แห่งแคว้นปรัสเซีย และพระนางแคทอรินที่ 2 แห่งรัสเซีย
4.Absolutism
Absolutism หมายถึง การปกครองแบบสมบูรณญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) หรือกษัตริย์ทรงเป็นเผด็จการและมีอำนาจเหนือรัฐอย่างสมบูรณ์ เปี่ยมด้วยความศรัทธาและความภักดีจากประชาชน อันแตกต่างจากระบอบกษัตริย์นิยมทั่วไปในยุคของศักดินาที่พระราชอำนาจยังถูกคานโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนาง ส่วนประชาชนก็ยังภักดีต่อเจ้าขุนมูลนายอยู่มาก
อนึ่งกษัตริย์ที่มีลักษณะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมก็ถูกเรียกว่า Enlightened Absolutism
5.Authoritarianism
Authoritarianism มีคำแปลที่ชัดเจน คือ "เผด็จการอำนาจนิยม" หมายถึง การปกครองที่ผู้ปกครองมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.จำกัดความหลากหลายทางการเมืองเช่นจำกัดบทบาทของสถาบันและกลุ่มทางการเมือง เช่นสมาชิกรัฐสภา พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
2.พื้นฐานในการสร้างความชอบธรรมตั้งอยู่บนเรื่องอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพของการปกครองของตนว่าเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นในการต่อสู้ปัญหาทางสังคมที่สำคัญเช่นความด้อยพัฒนาหรือผู้ก่อความไม่สงบ
3.ไม่ยอมให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองนอกจากการปฏิบัติตามและยังจำกัดบทบาทของมวลชนโดยใช้วิธีกดขี่ผู้มีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลและการสั่งห้ามไม่ให้มีกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล
4.อำนาจของฝ่ายบริหารมีความคลุมเครือสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ (ดังเช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ยุคจอมพลสฤษดิ์และมาตรา 44 ในยุคปัจจุบัน)
6.Creeping Authoritarianism
Creeeping Authoritarainsm
แปลเป็นภาษาไทยของผู้เขียน (อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์ ) เอง คือ “เผด็จการแบบคืบคลาน” หมายถึง นักปกครองที่มาจากวิถีทางแบบประชาธิปไตยเช่นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ก็ได้ใช้อำนาจและความนิยมของประชาชนในการค่อยๆ บั่นทอนสถาบันและกลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ตัวเองสามารถมีอำนาจและมีวาระการดำรงตำแหน่งอย่างยาวนานตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ประธานาธิบดีเรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกันแห่งตุรกีซึ่งเคยผูกขาดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่าทศวรรษ
7.Totalitarianism
Totaltarianism คำนี้มีคำแปลที่ชัดเจนคือ "เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ" ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่เผด็จการยิ่งกว่าเผด็จการอำนาจนิยม เพราะเผด็จการอำนาจนิยมนั้นอาจจะผูกขาดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ในการบริหารรัฐกิจแต่ก็เปิดอิสระหรือพื้นที่สำหรับประชาชนอยู่บ้าง ในขณะเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้นมุ่งเน้นในการเข้าไปควบคุมวีถีชีวิตของประชาชนในทุกด้านไม่ว่าด้านร่างกายการแต่งตัว รสนิยมหรือแม้แต่เรื่องความคิด ดังเช่นยุคของสตาลิน เหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมและเกาหลีเหนือในยุคปัจจุบัน อนึ่งเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จอาจจะไม่ได้มีผู้มีอำนาจผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวคือเป็นหมู่คณะ (Collective leadership) ดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตยุคหลัง สตาลินหรือกลุ่มเขมรแดงเมื่อทศวรรษที่ 70
เป็นที่น่าสนใจว่าเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้นมักเริ่มต้นมาจากเผด็จการอำนาจนิยมเสียก่อนและจึงค่อยคืบคลานเพิ่มความเข้มข้นไปเรื่อย โดยอาศัยกลยุทธ์เช่น
Cult of personality หมายถึงลัทธิบูชาบุคคลหรือให้ประชาชนจงรักภักดีต่อผู้นำคนใดคนหนึ่งอย่างสุดจิตสุดใจผ่านการโฆษณาชวนเชื่อซ้ำไปซ้ำมา
Indoctrination หมายถึงการปลูกฝังลัทธิหรืออุดมการณ์ให้ประชาชนยึดมั่นหรือปฏิบัติตาม ชนิดที่ไม่ว่าสามารถต่อต้านหรือแม้แต่ตั้งคำถามได้ อุดมการณ์นี้มักถูกผูกเข้ากับตัวบุคคลในข้อแรก
Mass mobilization หมายถึงการระดมมวลชนเพื่อให้หันมาสนับสนุนหรือเทิดทูน อุดมการณ์ชุดหนึ่งๆ และยังหันมาจับตามองกันเองเพื่อค้นหาคนที่ไม่เชื่อฟังต่อรัฐ
Repressive law หมายถึงกฎหมายที่เข้มงวด มุ่งกดขี่ประชาชน ปราศจากความยุติธรรม
Judicial corruption หมายถึงสถาบันทางกฎหมายที่ตราชั่งเอียงไปเอียงมา ปราศจากการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและอิสระเพราะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร
Secret police หมายถึงตำรวจลับซึ่งแทรกตัวเข้าไปในทุกอณูของสังคม ในเยอรมันตะวันออก หน่วยตำรวจสตาซีได้บีบบังคับให้ประชาชนมีการสอดแนมและแอบล้วงความลับกันเองแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์หรือสนิทแนบแน่นกันอย่างไรก็ตามก่อนจะรายงานให้ทางการทราบ
Secret prison หมายถึงคุกลับที่เน้นการทำให้นักโทษตายทั้งเป็นมากกว่าเป็นการสั่งสอนให้เกิดสำนึกด้วยวัตถุประสงค์คือทำให้ประชาชนซึ่งรู้คำเล่าลือไม่กล้าเป็นปรปักษ์ต่อรัฐ
Strict censorship หมายถึงการเซนเซอร์หรือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกอย่างเข้มงวดแม้แต่ด้านศิลปะ การแสดงออกเรื่องทางเพศ
Fear-inspiring หมายถึงการปลุกปั่นให้มวลชนเกิดความกลัวเช่นใช้กฎหมายแบบเข้มงวดจนเกิดจริงและไม่ตั้งอยู่บนเหตุผลแม้แต่น้อย จนประชาชนเกิด Self-censorship หรือการงดการแสดงออกทางการเมืองเพื่อไม่ให้มีปัญหากับรัฐ
8.Autocracy
Autocracy เป็นคำแปลของเผด็จการแบบรวมๆ คือ สามารถใช้แทนเกือบทุกคำข้างบนสำหรับผู้มีอำนาจปกครองแบบเด็ดขาด กระนั้นเองก็มีผู้สร้างคำว่า Liberal autocracy หรือการปกครองแบบเผด็จการแต่เน้นหลักการณ์แบบเสรีนิยมดังเช่นการที่อังกฤษปฏิบัติต่อเกาะฮ่องกงในช่วงเป็นอาณานิคม คือชาวฮ่องกงไม่สามารถเลือกผู้ว่าการเกาะเองได้ แต่อังกฤษก็ได้ปลูกฝังให้คนฮ่องกงมีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐ อันเป็นสาเหตุให้ฮ่องกงไม่ค่อยมีความสงบทางการเมืองเลย ภายหลังจากที่อังกฤษส่งมอบเกาะให้กับจีนเมื่อปี 1997 เพราะคนฮ่องกงนั้นขาดความศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อนำไปเทียบกับรัฐบาลอังกฤษ
ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560
สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาจากสื่อมวลชนที่เอียงข้างเข้าฝ่ายทหารจะพบว่ามีการเขียนสรรเสริญยกย่องรัฐบาลว่ามีลักษณะการปกครองแบบนี้เช่นเดียวกับ Benevolent dictatorship (เผด็จการใจดี) อำนาจนิยม เป็นระบอบการเมืองที่มีฐานอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการชนิดที่ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัฐ หรือกลุ่มคนใดๆ ในการธำรงไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ การรักษาอำนาจของตน (ภายใต้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2557 และได้รับรองในมาตรา 265 รัฐธรรมนูญ 2569 ฉบับปัจจุบัน)โดยมักจะไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ ควบคุมสื่อมวลชน ผูกขาดการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบ
กล่าวได้ว่า ระบอบอำนาจนิยมเป็นระบอบการเมืองที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์การปกครองของมนุษยชาติ ทุกวันนี้ “อำนาจนิยม” เป็นคำที่ถูกใช้ถึงบ่อยครั้งที่สุด เมื่อกล่าวถึงระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลักษณะสำคัญของระบอบอำนาจนิยม คือ การกระทำและการตัดสินใจของผู้ปกครองไม่ถูกจำกัดโดยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ในขณะที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิทธิทางการเมืองของประชาชน หากมีอยู่บ้าง ก็จำกัดเต็มที ด้วยเหตุที่ผู้ปกครองอำนาจนิยมจะสร้างกฎระเบียบ มาตรการที่เข้มงวด เพื่อจำกัดกิจกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม ในระบอบอำนาจนิยม ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมมักไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางการเมืองใดๆ ยกเว้น กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐ ฉะนั้น การต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนตามจังหวะและโอกาส จึงแทบจะเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมชนิดเดียวที่ทำได้ ในขณะที่เสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อระบบการเมืองจะถูกตรวจสอบ หากฝ่าฝืนจะมีมาตรการลงโทษ
ดังนั้นอำนาจนิยมของประเทศไทยมีลักษณะของอำนาจที่เข้มข้นและรวมเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก ซึ่งรักษาไว้โดยการปราบปรามทางการเมืองและการกีดกันคู่แข่งที่เป็นไปได้ รัฐบาลอำนาจนิยมใช้พรรคการเมืองและองค์การมวลชนเพื่อระดมคนมารอเป้าหมายของรัฐบาล
แต่อย่างไรก็ตาม ในระบอบอำนาจนิยม (ใกล้เคียงกับระบอบคอมมิวนิสต์) ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองได้อย่างปกติ สามารถเลือกประกอบอาชีพ นับถือศาสนา และสังสรรค์หาความสุขได้โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงจากรัฐบาล แต่กระนั้น ในบางประเทศสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอาจถูกควบคุมโดยธรรมเนียมปฏิบัติ บรรทัดฐานหรือความเชื่อทางศาสนาที่เข้มงวด ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งหรือคนละส่วนกับอำนาจรัฐในระบบการเมืองก็ได้
ประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากการเปบี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประขาธิปไตยอันมีพระมกากษัตริย์ทรงเป็นมุข แต่กลับเปลี่ยนผ่านของการใช้อำนาจปกครองนำมาสู่คำเรียกขาน “ระบอบราชการอำนาจนิยม” (bureaucratic authoritarianism) ที่ใช้อธิบายระบอบประชาธิปไตย แต่เกิดหักเหจนในที่สุดปัจจุบันในประเทศไทย ถือได้ว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ถูกแทนที่ด้วยแนวร่วมระหว่างคณะทหารกับพลเรือนที่ทำการรัฐประหารยึดกุมสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ชนชั้นนำที่ประกอบด้วย ทหาร ข้าราชการพลเรือน นักเทคนิคระดับสูง (technocrats) ตลอดจนนักธุรกิจชั้นนำดำเนินนโยบายที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย และการเข้ามาแข่งขันในตลาดการเมือง โดยคณะทหารและระบบราชการดังกล่าว แสดงบทบาททางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล นักวิชาการลาตินอเมริกาวิเคราะห์ว่า ระบอบราชการอำนาจนิยม เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทุนนิยมแบบพึ่งพา ประเทศที่จัดว่าใช้ระบอบราชการอำนาจนิยม ดังเช่น ที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิล อาร์เจนตินา และ ชิลี เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันที่ปรากฏในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้ “อำนาจนิยม” วางหลักการกำหนดที่มาจากการเลือกตั้ง” (electoral authoritarianisms) หรือ “ระบอบอำนาจนิยมที่มีเปลือกนอกฉาบด้วยผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ ที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กระบวนการอันสำคัญและจำเป็นกระบวนการหนึ่งที่มิอาจขาดหายไปได้เลยก็คือ การเลือกตั้ง (election) เพราะเป็นกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเจ้าของอำนาจได้แสดงออกซึ่งเจตจำนงเสรีของแต่ละบุคคล ทว่าการเลือกตั้งก็อาจมิใช่ตัวบ่งชี้ถึงความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศได้อาศัยกระบวนการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง และการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ด้วยการอ้างเสียงสนับสนุนข้างมาก ทำให้เกิดอำนาจนิยมแบบใหม่ที่เรียกว่า อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การเลือกตั้งมิได้เท่ากับการมีประชาธิปไตยเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่ “จำเป็น” แต่อาจไม่ “เพียงพอ” ที่จะแบ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ออกจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เส้นแบ่งใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบอำนาจนิยมที่แฝงเร้นอยู่ในคราบประชาธิปไตยตัวแทนจอมปลอม (authoritarianism disguised in the form of representative democracy) จึงอยู่ที่มิติด้านคุณภาพของการเลือกตั้งและประสิทธิภาพของกลไกตรวจสอบด้วย กล่าวคือ การเลือกตั้งจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรี เที่ยงธรรม และโปร่งใส (free, fair, and transparent election) ที่ปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การแทรกแซงของคณะทหาร ไม่มีการครอบงำ หรือจำกัดคู่แข่งทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้ง จึงจะนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เพียงพอและจำเป็นที่จะนำไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง และเมื่อได้ชัยชนะและมีเสียงข้างมากแล้ว หากใช้กลไกเสียงข้างมากบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ ก็อาจนำไปสู่อำนาจนิยมซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างอำนาจนิยมและประชาธิปไตยที่สำคัญไม่แพ้การเลือกตั้ง คือ การมีหลักนิติธรรมที่ไม่เอนเอียง มีรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ และมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงหรืออคติ
อ้างอิง
https://prachatai.com/journal/2014/10
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Authoritarianism
http://en.wikipedia.org/wiki/Liberal_autocracy
1. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
2. ↑ Linz, Juan (2000). Totalitarian and authoritarian. Boulder: Lynne Rienne.
3. ↑ Badie, Bertrand, Dirk Berg-Schlosser, and Leonardo Morlino (2011). International encyclopedia of political science. Thousand Oaks, Calif.: SAGE Publication
4. ↑ Linz, Juan (2000). Totalitarian and authoritarian. Boulder: Lynne Rienne.
5. ↑ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
6. ↑ Kesboonchoo-Mead, Kullada (2012). “The cold war and Thai democratization”. In Southea and the cold war. New York: Routledge
7. เกษียร เตชะพีระ (2547). “วัฒนธรรรมการเมืองอำนาจนิยมแบบเป็นปฏิปักษ์กับการปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” ใน สมชาย หอมลออ (บ.ก.), อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย, กรุงเทพฯ : คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, หน้า 3-19
8. https//prachatai.com/journal/2014/10
9.
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Authoritarianism
10.
http://en.wikipedia.org/wiki/Liberal_autocracy