ธุรกิจ New S-Curve ของ ปตท. คืออะไร ?
ปตท. x ลงทุนแมน
ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นการดิสรัปชันในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก
โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วที่โรคระบาด ได้ทำให้หลายบริษัทเร่งปรับตัว
หากเรามาดูสถานการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน
ด้วยผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ได้เร่งให้หลายบริษัทจำเป็นต้องมองหาธุรกิจใหม่
เพื่อโอกาสการเติบโตในอนาคตรวมถึงเพื่อกระจายความเสี่ยงในธุรกิจเดิม
ไม่เว้นแม้แต่ ปตท. บริษัทที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย ก็มีสัญญาณการเข้าไปลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงธุรกิจใหม่
สะท้อนให้เห็นจากในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการลงทุนในธุรกิจเดิมอย่างการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติ ต่อยอดไปเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระดับภูมิภาค หรือ LNG Hub
รวมไปถึงการกระจายการลงทุนไปพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับ Life Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสุขภาพ เช่น ยา ฟิวเจอร์ฟู้ด และอุปกรณ์ทางการแพทย์และได้เข้าไปลงทุนใน Lotus Pharmaceutical บริษัทวิจัย และพัฒนายารักษามะเร็งที่ใหญ่สุดในไต้หวัน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
แล้ว ปตท. ยังมีกลยุทธ์หาช่องทางการเติบโตกับธุรกิจอะไรอีกบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน ปตท. ยังมีโครงการที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันธุรกิจใหม่และธุรกิจที่มีแนวโน้มจะสร้างการเติบโตในระยะยาวโดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่าธุรกิจ New S-Curve แบ่งออกเป็น
1. Express Solutions Project หรือ ExpresSo
2. Booster Project
แล้วแต่ละโครงการ มีแนวทางการค้นหาธุรกิจ New S-Curve กันอย่างไร ?
เริ่มกันที่โครงการ “ExpresSo” ที่ก่อตั้งและเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 หรือราว 4 ปีก่อน
เป็นการรวมตัวกลุ่มคนรุ่นใหม่ของ ปตท. ที่จะเข้าไปค้นหาโอกาสในธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีแนวโน้มจะเติบโตเป็นธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต
โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก แบ่งออกเป็น
กลุ่มแรก Corporate Venture Capital หรือ CVC เป็นธุรกิจที่จะค้นหาและเข้าไปลงทุนในกองทุน
หรือสตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการแข่งขันของ ปตท. ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน
ปัจจุบัน ExpresSo กระจายการลงทุนในกองทุนพลังงานและความยั่งยืน 7 กองทุน
และสตาร์ทอัพจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3 บริษัท ได้แก่
- HG Robotics สตาร์ทอัพไทย ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติหลากหลายรูปแบบ รวมถึงโดรนเพื่อการสำรวจ และ โดรนเพื่อการเกษตร
- Baania สตาร์ทอัพไทย ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
- Sunfolding สตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกา ผู้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ในลักษณะแกนเดียว ใช้ระบบหัวขับลมมีตัวควบคุมความดันที่คำนวณและปรับแกนการเอนตัวแผ่นโซลาร์ตามทิศทางของดวงอาทิตย์
โดย ExpresSo มีธีมการลงทุนหลักให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. โดยมองหาสตาร์ทอัพผู้คิดค้น
และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงานใหม่และการจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน
นอกเหนือจากมุมการเป็นผู้ลงทุนแล้ว ExpresSo ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจ Venture Builder หรือ VB
เป็นการจัดตั้งโครงการหรือบริษัทเพื่อทดสอบแนวคิดทางธุรกิจ และพัฒนาต้นแบบที่มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นธุรกิจใหม่ให้กับ ปตท. ตัวอย่างเช่น
- Renewable Energy Acceleration Platform หรือ ReAcc ทำธุรกิจแพลตฟอร์มระบบบล็อกเชนเพื่อรองรับธุรกรรมเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจรรายแรกในประเทศไทย ที่ช่วยให้บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียน
- Swap & Go ธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ
- Mekha Tech ธุรกิจให้บริการคลาวด์กับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท.
- Smart Energy Platform: P2P โครงการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างบุคคล โดยร่วมมือกับ Sertis GPSC และ VISTEC
ExpresSo ยังมีกลยุทธ์การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น ๆ ผ่านกลุ่มธุรกิจ Venture Partner หนึ่งในนั้นคือการร่วมมือกับ Elemental Excelerator องค์กร Nonprofit ด้าน Climate tech เพื่อสร้างความยั่งยืนในกับโลก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 แบบยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ระดับสากล
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้โครงการ ExpresSo
ที่แบ่งกลยุทธ์การหาโอกาสการเติบโตใหม่ทั้งในรูปแบบการลงทุน
การจัดตั้งบริษัทขึ้นเอง และการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้อื่น
นอกจากโครงการ ExpresSo แล้ว ยังมีอีกโครงการที่เน้นการค้นหาโอกาสการเติบโตใหม่เหมือนกัน
แต่มุ่งเน้นไปที่ กลุ่ม Food Value Chain เป็นหลัก รวมถึงเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพให้กับโครงการนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วใน ปตท. และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้ โดยโครงการนี้ชื่อว่า “Booster Project” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
การดำเนินงานของ Booster จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจของโครงการในด้านต่าง ๆ เช่น Strategic fit, market, business model และ financial model ตลอดจนค้นหาโอกาสการเติบโตของธุรกิจนั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Fishery Technology & Innovation
ที่เป็นการพัฒนาให้ประมงไทยกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง
โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและระบบการจัดการใหม่ มาพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงแบบครบวงจร
รวมทั้งการแปรรูป จำหน่าย และบริหารโลจิสติกส์ เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน
เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรไทย และสร้างโอกาสใหม่เพื่อการเติบโตทางธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยได้คัดเลือกปลาเศรษฐกิจ 2 ชนิดมาเป็นโมเดลต้นแบบ ได้แก่
Sugi Model หรือ โมเดลปลาช่อนทะเล เป็นโครงการเพื่อพัฒนาปลาเศรษฐกิจในอนาคต
ซึ่งจะนำเทคโนโลยีและการจัดการแบบใหม่มาพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงในกระชังต้นแบบ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกระบวนการเพาะเลี้ยง และการทดสอบเรื่องอาหาร
เพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อและสารอาหารในปลาให้ดีขึ้น
ตลอดจนวิจัยผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อให้สามารถใช้ผลผลิตทั้งหมดอย่างคุ้มค่าไม่มีของเหลือทิ้ง
และหาช่องทางจัดจำหน่ายแบบ online offline และ modern trade
โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดการแข่งขัน Sugi Hackathon
ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาประกวดแผนธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อนำแนวคิดของคนรุ่นใหม่ มาช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาปลาเศรษฐกิจดังกล่าว
อีกหนึ่งปลาเศรษฐกิจที่ Booster มีส่วนร่วมพัฒนา คือ Gourami Model หรือ โมเดลปลาสลิด
ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ เพาะเลี้ยงไปจนถึงการแปรรูป สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค ว่าแต่ละกระบวนการเป็นไปตามมาตรฐานและตรวจสอบได้
ปัจจุบันก่อสร้างโรงงานแปรรูปแล้วเสร็จ 95% อยู่ระหว่างการทดสอบกระบวนการแปรรูป และเริ่มมีการติดตั้งระบบ IoT และระบบอัตโนมัติหรือ Automation สำหรับการผลิตภายในโรงงานแปรรูปเพื่อตรวจสอบและวัดผลตลอดกระบวนการแปรรูป โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นโรงงานผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
โครงการ Fishery Technology & Innovation ยังมุ่งมั่นพัฒนาประมงไทย โดยใช้ระบบ IoT (internet of Things) ร่วมกับการจัดทำ mobile application เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรบันทึกข้อมูลการเพาะเลี้ยง ที่จะช่วยให้การเพาะเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของผลิดภัณฑ์ และ คุณภาพ
รวมทั้งยังมีการพัฒนา Platform ให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Blockchain ให้สามารถตรวจสอบได้ตลอด Supply Chain
ในอนาคตอันใกล้ จะมีการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้งานร่วมกับ AI (Artificial Intelligence) สำหรับกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานในการออกแบบการผลิตให้เป็นไปความต้องการของตลาดได้ในอนาคต
นอกเหนือจากการสนับสนุนการพัฒนาประมงไทย โครงการ Booster ยังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้น สมุนไพรไทย ครอบคลุมทั้งกระบวนการ
ตั้งแต่การปลูก การสกัด การแปรรูป ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
ด้วยความตั้งใจที่จะส่งต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสู่มือผู้บริโภค
จะเห็นได้ว่าแม้ ExpresSo และ Booster จะเป็นโครงการที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปี
แต่ทั้ง 2 โครงการมีลักษณะการดำเนินธุรกิจเฉพาะที่ชัดเจนและมีเป้าหมายร่วมกันคือ การมองหาโอกาสการเติบโตทั้งในรูปแบบของการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ หรือการวิเคราะห์ตลาดและหาแนวโน้มในการเติบโตในอนาคตเพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมให้ธุรกิจ มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
ก็น่าติดตามกันต่อไปว่าในระยะยาว ทั้ง 2 โครงการของ ปตท. จะสร้าง New S-Curve อะไรให้กับบริษัทได้บ้าง
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้ คือ ปตท. พร้อมแล้วที่จะรุกเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่
ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เพียงคำว่าธุรกิจพลังงาน อีกต่อไป
Search