100 ข้อ ธุรกิจขายของออนไลน์ (ยาวมาก)
สืบเนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ทุกอย่างต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์แบบไม่มีทางเลือก ผมเองในฐานะคนที่อยู่ในวงการนี้ จึงอยากแชร์ประสบการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ทุกคนได้อ่านครับ
บทความนี้จริงๆเขียนไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เก็บไว้ยังไม่ได้โพสต์ ผ่านมาจนสถานการณ์ดีขึ้น และเมื่อดูเหมือนจะเกิดวิกฤตอีกครั้งจึงคิดว่านำมาโพสต์น่าจะมีประโยชน์กับคนอ่านไม่มากก็น้อยครับ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ตรงของตนเอง
อาจจะเป็นเรื่องราวใหม่ๆ แนวใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในเพจผมมาก่อนเลย ที่ผ่านมามีแต่เรื่องเที่ยวซะเยอะ ถือว่าลองดูมุมมองใหม่ๆ ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้และผ่านไปด้วยกันนะครับ
บทเริ่มต้น
1. วิกฤต COVID-19 เข้ามา เป็นการบ่งบอกว่าทุกธุรกิจที่ไม่ได้อิงกับออนไลน์มีความยากลำบากสูงมากในเวลานี้
2. ธุรกิจออนไลน์เป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจที่ใช้ทุนต่ำและมีความเสี่ยงต่ำมากที่สุด มาแต่ตัวก็สามารถเริ่มธุรกิจได้ทันทีขอเพียงมีข้อต่อไป
3. สำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจที่ "ไม่มีทุน" คุณต้องมีสิ่งอื่นทดแทนคือ "แรง" , "ความบ้า" , "พร้อมที่จะไม่มีคำว่าว่างอีกต่อไป" สิ่งเดียวที่ทดแทนเงินได้คือเวลาเท่านั้นสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ
4. หลายคนบอกว่าให้เริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่รัก เพราะจะได้รู้สึกว่ามีความสุขในทุกวันที่ได้ทำมัน ผมเห็นด้วยอย่างมาก เพราะเราจะไม่มีวันเบื่อเวลาที่เรานั่งค้นคว้า หาข้อมูล และสุดท้ายคือการเอามันมาขาย
5. หลายคนบอกอีกเช่นกันว่า เวลาทำธุรกิจอย่าเริ่มทำในสิ่งรัก เพราะถ้าคุณทำมันพลาด คุณอาจจะเกลียดมันไปตลอดกาล อันนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าแค่เริ่มต้นก็ไม่อยากทำมันแล้ว เราจะไปขายสิ่งที่เราไม่รักให้คนอื่นได้อย่างไร
6. ของทุกสิ่งในโลกนี้ขายได้ ไม่เชื่อลองไปเปิดดูเว็บไซต์อย่าง Ebay คุณจะพบกับสินค้าชิ้นเล็กๆอย่างยาหม่องที่อาจส่งไปขายต่างประเทศ แต่ถ้าจะเอาในประเทศไทยก็ลองดูเว็บไซต์อย่าง Lazada หรือ Shopee แล้วลองคิดดูว่ายังมีอะไรที่ยังไม่ได้ถูกนำมาขายบนโลกออนไลน์อีก
7. สินค้าที่แนะนำให้ลองเอามาขาย ควรเป็นสินค้าที่ราคาทุนต่ำ หรือ ถ้าเป็นสินค้าที่มีคนมาฝากเราขายอันนี้จะดีมาก เพราะเท่ากับเราจะลงแค่แรงอย่างเดียวเรียกว่า Dropship
8. ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ที่เห็นในเว็บ ไม่มีหน้าร้านจริงๆ ไม่มีสตอคของเองจริงๆ เขาทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางในการขายสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ของเขาเท่านั้น นี่คือพลังของ online ecommerce
9. คำว่า E-commerce คือการทำการขายออนไลน์ โดยที่เราอาจจะมีหรือไม่มีหน้าร้านก็ได้ ต่อไปนี้จะเป็นคำศัพท์ที่คุณต้องรู้ถ้าจะเข้ามาตลาด E-commerce
E-marketplace
10. ตั้งแต่ข้อที่ 10 จนถึง 64 จะทำให้การขายเราถึงหลักล้านบาทได้ไม่ยากถ้าทำได้ทั้งหมด
11. E-Marketplace พูดง่ายๆคือ เว็บไซต์ที่ให้เราเอาของไปขายได้เลยแบบง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการทำเว็บอะไรเลย เช่น Lazada, Shopee, JD Central อันนั้นคือของไทย แต่ถ้าเป็นของต่างชาติเช่น Alibaba, Taobao , Amazon, Ebay อะไรก็ว่าไป ข้อดีของ marketplace คือ ใช้งานได้ง่ายมาก ลงข้อมูลก็ง่าย ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ทุกอย่างจะเรียบร้อยพร้อมขายขึ้นเว็บ แชร์ลิงค์ให้เพื่อนได้ทันที สำหรับผู้เริ่มต้นให้เริ่มที่แหล่งปลาชุกชุมที่สุดก่อนคือ Lazada หรือ Shopee
12. E-Marketplace มีหลายแบบ เมื่อสักครู่กล่าวถึงกลุ่มรวมๆ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่ marketplace แบบเฉพาะเจาะจงเป็นหมวดหมู่แยกไปโดยเฉพาะตามแต่ละกลุ่มสินค้าเลยเช่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน Nocnoc หรือกลุ่มเฉพาะเจาะจงอื่นๆ
13. E-Marketplace แบบที่พิเศษอื่นๆเช่น lnwshop ที่จะเป็นทั้ง marketplace พร้อมกับเป็นเว็บไซต์หน้าร้านหน้าบ้านให้เราในเวลาเดียวกัน
14. ถ้าคุณทำหน้าร้านออนไลน์ แล้วมีหน้าร้านออฟไลน์ด้วย และทั้ง 2 ระบบเชื่อมโยงกัน เรียกว่าเป็น Omnichannel ตัวอย่างก็พวกบรรดาร้านขายของแบรนด์ใหญ่ๆในไทยเช่น Uniqlo แบบนี้ ซึ่งคุณสามารถทำได้ และการ scale คือทำให้โตจะง่ายกว่า
15. แต่ถ้าคุณมีทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ แต่สองระบบนี้ไม่เชื่อมโยงกัน ตัวใครตัวมันแบบนี้เรียก multichannel ข้อเสียคือทำงานซ้ำซ้อนซึ่งเดี๋ยวจะเข้าใจภายหลังอ่านจบ แต่ถ้ามีทั้ง Online แล้วไปจบที่ Offline จะเรียก O2O
16. ถ้าคิดจะไปขายบน Shopee หรือ Lazada ทุกอย่างมันถูกทำให้ง่ายก็จริง แต่ก็ต้องแลกด้วยวิธีการปกป้องลูกค้าของเขาคือ เช่น Lazada มีการกำหนดให้มีการเก็บเงินปลายทาง ซึ่งลูกค้ามีสิทธิ์ปฏิเสธของๆเราได้ทั้งๆที่เราทำถูกต้องตามกฎทุกอย่าง
17. พวก Shopee / Lazada เวลาได้เงินจากลูกค้าไป เขาจะเก็บไว้ก่อนจนแน่ใจว่าลูกค้าได้รับของแล้ว และไม่มีการร้องเรียน หลังจากนั้นเขาจึงโอนเงินกลับมาให้เรา โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 5 วันหลังจากลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว ดังนั้นต้องวางแผนกระแสเงินสดให้ดีๆ ไม่ใช่ขายดีมาก แต่สุดท้ายเรากลับไม่มีเงินใช้เพราะมัวแต่ต้องมานั่งรอเงินจาก Lazada/shopee โอนกลับมา
18. อันนี้สำคัญมากๆต้องติดดอกจันทร์ไว้หลายๆอัน ***** ห้ามพึ่งแต่การตลาดบน Facebook, line, Lazada, Shopee แต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าวันดีคืนดี พวกเว็บไซต์พวกนี้ปิดไป หรือเปลี่ยนนโยบายการแสดงสินค้า หรือคิดค่าธรรมเนียมการตลาดมากขึ้น เงินกำไรที่เราได้อาจจะกระทบได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญขั้นต่อมาคือ “การสร้างบ้านของตนเอง” *****
19. ข้อดีของ E-marketplace สำหรับผู้เริ่มต้นคือ ให้คิดภาพว่าที่นี่เป็นตลาดที่คึกคักมากคนเดินเข้าออกวันละเป็นล้านคน (traffic) หลักการขายของข้อแรกคือต้องมีลูกค้าก่อน ซึ่งถือว่าไปได้ถูกที่แล้วต้นทุนในการออกหาลูกค้าต่ำ นั่นเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมทุกคนเลือกมาที่นี่ แต่ที่นี่คือ “การเช่าบ้าน”
20. สำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว การเริ่มที่ marketplace คือสิ่งที่ควรเริ่มทำมากที่สุด ใช้ทุนน้อยที่สุด เมื่อเริ่มพร้อมจึงไปสู่ขั้นตอนถัดไปคือ “การสร้างบ้าน”
Website
21. “การสร้างบ้านของตนเอง” คือ การมีเว็บไซต์ที่ขายสินค้าของเราโดยเฉพาะ ที่จะอยู่ยงคงกระพันไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่นอีกต่อไป พอเรามีบ้านหรือเว็บไซต์ของเรา สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือทำอย่างไรให้บ้านเราเป็นที่รู้จัก นั่นคือการเรียกว่า “การทำ SEO”
22. “การทำ SEO” ย่อมาจาก Search Engine Optimization คือการทำให้เว็บไซต์ของเราไปโผล่บน Google หน้าแรกเวลาที่คนมาค้นหา ซึ่งแปลเราต้องทำให้เว็บไซต์ของเราเป็นที่ชื่นชอบของ Google นั่นเอง โดย Google จะมี robot ที่วิ่งไปทั่วโลกบนออนไลน์คอยดักจับค่าต่างๆ เพื่อเอามาประเมินผลว่า เว็บนี้ดี หรือ เว็บนี้เลว
23. สิ่งที่ Google ชอบ และเราทำตาม ก็จะทำให้เราพาเว็บไซต์ของเราขึ้นสู่หน้าแรกได้ แต่ใช้เวลาไม่ได้ทำวันเดียวได้ บางครั้งใช้เวลานานหลายเดือน สิ่งที่ Google ชอบมีหลายสิบหลายร้อยอย่าง เช่น เว็บไซต์ต้องเข้าได้เร็ว เว็บไซต์ต้องมี keyword ที่ควรต้องมี เนื้อหาในเว็บไซต์ต้อง relevant กับส่วนอื่นๆ ต้องมีรูปภาพ จำนวนคำต่อหนึ่งบทความ และอะไรอีกมากมาย ถ้าจะเอาให้ละเอียดตรงนี้เรียนรู้กันได้หลายชั่วโมงเลยครับ
24. รายละเอียดสินค้าที่ขายต้องเป๊ะ หนักกี่โล กว้างยาวสูงเท่าไร ภาพถ่ายของสินค้าจริง เป็นข้อมูลที่ห้ามลืมที่จะใส่เด็ดขาด
25. SEO สายขาว คือ การทำ SEO อย่างถูกวิธีตามกฎตามข้อ 22 ส่วน SEO สายมืดคือ ใช้ทางลัดแหกกฎพาเว็บไซต์ขึ้นหน้าหนึ่งได้เหมือนกัน โดยอาศัยช่องโหว่ของ Google แต่ถ้าโดนตรวจพบก็จะถูกแบนและเอาออกในที่สุด ถ้าคิดจะทำการค้าแบบอยู่ไปยาวๆ ทำแบบสายขาวดีกว่า
26. คนไทยมากกว่า 70-80% ซื้อของในช่องทางใดก็ตามผ่านโทรศัพท์มือถือ เว็บไซต์ที่ออกแบบไว้ควรเน้นให้เร็ว ใช้งานง่ายบนมือถือเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นเว็บไซต์ที่คุ้นมือคนทั่วไปแล้ว การขายเราก็จะง่ายขึ้น ถ้าเราไปทำเว็บใหม่ออกแบบเองไม่แนะนำ เพราะขั้นตอนลูกค้าอาจจะงงจนหมดอารมณ์ซื้อไปเสียเอง
27. เว็บไซต์สำหรับการขายของมี 2 แบบคือ เว็บสำเร็จรูป และ เว็บที่ถูกทำขึ้นมาใหม่
28. วิธีแรก เว็บสำเร็จรูป ใช้ E-marketplace แบบพิเศษเช่น lnwshop, Tarad.com, Weloveshopping อันนี้เราเพียงไปใส่ข้อมูลร้านค้าของเรา เลือก theme website จดชื่อโดเมนได้ง่าย อัพโหลดสินค้าและข้อมูลเข้าไป เท่านี้ก็พร้อมจะขายของได้แล้วพร้อมกับบ้านของตนเอง ข้อดีที่สุดคือ ต้นทุนต่ำสำหรับคนอยากมีเว็บ ไม่ต้องดูแลระบบหลังบ้าน ไม่ต้องกลัวเว็บล่ม ไม่ต้องกลัวใครมาเจาะ แต่ข้อเสียคือหน้าตาเว็บอาจจะจำกัดรูปแบบ และปรับแต่งอะไรไม่ได้เยอะ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันเหมาะสำหรับมือใหม่
29. สำหรับวิธีแรกนั้น บางบริษัทเช่น lnwshop นั้นปัจจุบันมีบริการ เชื่อมต่อ (sync) ข้อมูลเข้า Lazada, Shopee ด้วยทำให้การทำงานขายของย่นเวลามากขึ้น เพราะใช้สต็อคสินค้าร่วมกัน ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ขายของมาสักระยะ แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเล็กน้อย
30. วิธีที่สองสำหรับการสร้างบ้านสร้างเว็บคือ ก็คือ ทำขึ้นมาเอง บน Woocommerce, Shopify หรืออะไรก็ตาม ข้อดีที่คิดออกข้อเดียวคือ เราจะออกแบบเว็บให้อลังการแค่ไหนก็ได้ทำได้แบบพวกแบรนด์ใหญ่ๆเลย แต่ข้อเสียมีเป็นกระบุงโกยสำหรับผู้เริ่มต้นคือ ต้องใช้ความสามารถของคนเริ่มต้นอย่างมาก เพราะต้องเขียนเว็บเอง ดูแลระบบเองซึ่งยากที่สุด ดูแลโฮสต์เอง เชื่อมต่อระบบรับจ่ายเงินเอง พูดง่ายๆดูแลทุกอย่างเองทั้งหมด ค่าใช้จ่ายจุกจิกเยอะและงอกเพิ่มได้ง่ายมาก แนะนำว่าแค่รู้ว่ามีวิธีนี้ก็พอ ผ่านครับ
31. การยืนยันตัวบุคคลของร้านค้าหรือผู้ขายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม่ค้าพ่อค้ามือใหม่ที่โนเนมก็คงไม่มีใครอยากทำการค้าด้วยเพราะความไม่มั่นใจว่าจะถูกโกงนั้นสูง ยิ่งสินค้ามูลค่าแพงยิ่งขายยาก ควรจะไปยืนยันตัวบุคคล ทำได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเลยเรียกว่า DBD นั่นเอง
Chat
32. เป็นเรื่องแปลกของคนไทย ที่ไม่เกิดในตลาด ecommerce ฝรั่งคือ ต่อให้เราทำข้อมูลสินค้าละเอียดขนาดไหนในเว็บไซต์ คนซื้อก็มักจะแชทมาถามก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดๆก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าวันหนึ่งๆจะต้องให้เวลากับการตอบ chat เยอะมาก ลูกค้าที่ซื้อเองโดยไม่ผ่านการใช้แชทเลย คือสวรรค์ของพวกเรา
33. ถ้าจะใช้ line เพื่อทำการขายสินค้า แนะนำให้ทำผ่าน Line OA หรือ Line official account เนื่องจากมีแพคเกจฟรีสำหรับผู้เริ่มต้น และเหมาะสำหรับการทำธุรกิจเพราะเราสามารถเพิ่มสมาชิกทีมงานเข้ามาภายในระบบเพื่อช่วยตอบแชท และสามารถส่งข้อความประชาสัมพันธ์ได้
34. เตรียมตัวรับความวุ่นวายในการเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เพราะเราต้องตอบคำถามลูกค้าที่มาทั้งทาง Line, Facebook, page, IG, Shopee, Lazada คิดดูละกันครับว่าวันหนึ่งจะใช้เวลาขนาดไหน ดังนั้นถ้าจำนวนทีมไม่เยอะค่อยๆเริ่มไปทีละแห่ง เมื่อคนเยอะขึ้นเราก็เพิ่มช่องทางได้
35. บริการ Page365 และ Sellsuki มีบริการเชื่อมต่อข้อความใน line เข้ากับระบบคลังสินค้าได้ทุกอย่างจะสะดวกขึ้นมาก ถ้าเราทำการตลาดผ่าน line เป็นหลัก แต่ถ้าเรามีช่องทางอื่นด้วยก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าอันไหนดีที่สุด
36. แต่ข้อดีของระบบ Chat คือเป็นการขายของแบบ 1 ต่อ 1 และจะทำให้เราร่ายมนต์สะกดในรูปแบบไหนก็ได้ใส่ลูกค้า ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการขายของแบบไทยๆ และก็เตรียมตัวอดนอนได้เลยครับ ตีหนึ่ง ตีสอง ตีสาม คนไทยเราก็ทักแชทซื้อของ ถึงแม้เขาจะไม่ได้คาดหวังคำตอบ แต่ถ้าเรามอบการขายที่เร็วที่สุดในเขาได้ นั่นคือสุดยอดความประทับใจ
37. ในระยะเวลาอันใกล้จนไปถึงอนาคตระบบ chatbot จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยจะลดปริมาณแรงงานมนุษย์ในการตอบ chat ลงไป
การขนส่งสินค้า
38. เรื่องการส่งสินค้า ทำได้หลายแบบ ถ้าระยะทางใกล้มากๆ การใช้พวก Grab, Line man อาจะเป็นทางเลือกที่ดีทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ถ้าส่งไปต่างจังหวัดมีหลายตัวเลือก เช่น ไปรษณีย์ไทย หรือบรรดาบริษัทสีเขียว สีส้ม สีเหลือง สีอื่นๆ
39. Kerry, DHL, Fast, Flash, J&T หรือเจ้าอื่นๆ เจ้าไหนดีที่สุด อยู่ที่สินค้าเราเป็นแบบไหน เพราะแต่ละเจ้ามีหลักการคิดน้ำหนักและค่าขนส่งที่ไม่เท่ากัน ขายเครื่องสำอางกระปุกเล็กๆ กับ ขายเก้าอี้ อาจจะต้องส่งคนละบริษัท อีกทั้งอย่าลืมพิจารณาตำแหน่งที่ของศูนย์รับส่งสินค้าด้วยว่าอยู่ใกล้ตัวเราขนาดไหน
40. ความเร็วในการส่งสินค้าเป็นอะไรที่สำคัญมาก แต่ก่อน 3 วันถือว่าเร็ว แต่ปัจจุบันเขาเล่นกันที่ same day กันแล้ว
41. การบรรจุเป็นส่วนที่ทำให้ลูกค้าประทับใจได้มาก ลองดูคนญี่ปุ่นแพคสินค้าสิครับ มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นมหาศาลเลย แต่เราไม่ต้องทำขนาดนั้น
42. ปัจจุบันนี้มีบริการที่เรียกว่า warehouse หรือ fulfillment คือ เราสามารถไปใช้บริการคลังสินค้าและฝากให้คนจัดการแพคของส่งสินค้าให้เราได้เลย บริการนี้มีที่ lnwshop แล้ว หรือถ้าเป็น Sellsuki ก็มี Akita เป็นต้น เรียกได้ว่าพ่อค้าแม่ค้าก็ขายอย่างเดียว ไม่ต้องมาพะวงเรื่องการห่อการส่ง แต่บริการนี้จะเหมาะกับสินค้าชิ้นเล็กถึงเล็กมาก เพราะค่าวางของเขาคิดเป็นตารางเมตรเลย ของใหญ่ๆจะไม่คุ้มครับ
การตลาด (Marketing)
43. ลูกค้ามี 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่พร้อมจะซื้อ ณ ตอนนี้ และ กลุ่มสองคือกลุ่มที่มีแผนจะซื้อแต่ไม่ใช่ตอนนี้ และ กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่แค่เดินผ่านมา แต่ไม่สนใจสินค้าเราแน่นอนเ
44. ลูกค้ากลุ่มแรก ใช้ Facebook, IG หรือ Line ในการหาลูกค้าพร้อมปิดการซื้อขาย กลุ่มนี้เรียกว่า hot lead ขอเพียงส่งข้อความไปหาเขาถูกเวลาบนหน้า feed เราก็จะขายได้เอง เน้นอารมณ์ร่วมเยอะๆ อันนี้เห็นได้จากแม่ค้าออนไลน์นั่นเอง ข้อดีคือเริ่มต้นได้ง่าย ได้เร็ว แต่ข้อเสียคือมาเร็วไปเร็ว
45. ลูกค้ากลุ่มสอง เรียกว่า cold lead กลุ่มนี้มักจะหาเราเจอจาก Google เพราะเขามีเวลาในการหาข้อมูลเยอะมาก ไม่ได้ซื้อด้วยอารมณ์ แต่ซื้อด้วยเหตุผลที่คิดมาดีแล้ว และ Google ไม่ยอมโชว์ผลลัพธ์ที่แสดงจาก Facebook ถ้าเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ของเราจึงสำคัญมากๆ ลูกค้ากลุ่มนี้คือคนกลุ่มใหญ่ในตลาด ข้อเสียคือเห็นผลช้า เพราะกว่า Google จะคำนวณคะแนนให้เว็บไซต์เราดีพอจะขึ้นโชว์หน้าแรกได้ต้องใช้เวลา แต่ข้อดีแน่ๆคือ เราจะอยู่ไปยาวๆ เหมาะกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ
46. กลุ่มสาม อันนี้ต้องค่อยๆฟูมฟักไปเรื่อยๆ เรียกว่า nurture หรือประครบประหงม ทำดีให้เขาเห็นบ่อยๆ แสดงแต่เรื่องดีๆของเราให้เขาเห็น สักวันในอนาคตเขาก็จะมาเป็นลูกค้าเราเองครับ
47. ในการขายของให้ลูกค้า นั่นถึงเป็นเหตุผลว่าเราควรทำการตลาดหลากหลายรูปแบบ ทั้งเว็บไซต์เพื่อให้ขึ้น Google พร้อมๆกับทำการตลาดบนหน้าเฟซเพราะคนไทยอยู่บนเฟซมากที่สุดชาติหนึ่งของโลกใบนี้
48. การทำการตลาดออนไลน์คือ Digital marketing ซึ่งไม่ใช่การใส่เงินโฆษณาเข้าไปใน Facebook แล้วให้มันทำงาน แต่เป็นการบูรณาการวิธีการต่างๆที่อยู่บนโลกออนไลน์จนทำให้สินค้าเราขายได้ผ่านวิธีการต่างๆเช่น content marketing, SEO, google ads
49. Content marketing คือการ content online ผ่านทางรูปแบบต่างๆเช่น บทความ วีดีโอ podcast เพื่อสินค้าหรือการตลาดของเรา อาจจะเป็นทั้ง soft sell หรือ hard sell
50. การทำการตลาดบน Facebook มีเรื่องราวมากมายที่ผู้เข้าใหม่ควรรู้เช่น Pixel ที่ไว้ตามหลอกหลอนลูกค้าที่เรียกว่า re-targeting หรือระบบการเลือก demographic ที่เลือกได้อย่างละเอียด และรูปแบบของ Facebook ads set ที่ศึกษากันได้เป็นวันๆ
51. ปัจจุบันการใช้เงินโฆษณาใน Facebook ถือว่าแพงมากๆ เพราะว่าเฟซบุ๊คใช้ระบบ bid คือการประมูล แปลว่าถ้ามีคน 10 คน อยากโฆษณาสินค้าในกลุ่มเดียวกันไปยังผู้รับที่ใกล้เคียงกัน ใครจ่ายเงินมากสุดโฆษณานั้นจะได้รับการเห็นมากที่สุด
52. นอกเหนือจาก SEO ที่เราต้องเรียนรู้ผ่านการทำเว็บไซต์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่ต้องรู้ต่อคือ “Keyword” หรือคำที่คนเราใช้ค้นหา เช่น ถ้าลองคิดภาพว่าคนจะซื้อเครื่องเกม Nintendo switch เขาจะพิมพ์ใส่ google ว่าอะไร จะซื้อกางเกงยีนส์จะพิมพ์ว่าอะไร ซึ่งอันนี้จะอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Google ads ทั้งหมด ศึกษากันได้เป็นวันๆอีกเช่นกัน
53. Keyword ของ Google มีหลายราคาขึ้นอยู่กับความถี่ของการถูกค้น เราสามารถดูได้จาก Google keyword planner
54. ปัจจุบันมีบริการพิเศษเช่น Priceza ของคนไทย ที่จะมาช่วยการทำ SEO ให้เรา โดยจะไม่คิดค่า commission ของราคาขายเราด้วย แต่จะไปคิดค่าบริการต่อการที่ทำให้สินค้าเราถูกค้นเจอแทน
55. Google กับ Youtube คือเพื่อนกัน ส่วน Facebook ถือว่าเป็นศัตรู ห้ามพึ่งที่ใดที่หนึ่งเป็นหลักเด็ด เราตัวเล็กต้องทำตัวเป็นเหาฉลามเกาะไปกับฉลามทุกตัวที่ว่ายมา
56. E-mail marketing เป็นอีกหนึ่งกลวิธีในการทำการตลาดแบบ business to business (B2B)
57. Inbound marketing คือการทำการตลาดแบบแรงดึงดูด ที่เหมาะกับใช้กับสินค้าราคาแพงมากๆ
58. Personal branding คือการใช้การตลาดที่ใช้เจ้าของเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนซึ่งจะช่วยผ่อนค่าใช้จ่ายการตลาดได้มาก
59. Influencer marketing คือการจ้างคนดังในโลกออนไลน์ไปทำรีวิวให้เรา ค่าจ้างก็ขึ้นอยู่กับจำนวน follower ของเขา คิดคร่าวๆก็ประมาณ 10,000 follower = 1,000 บาท ถ้าจ้างคนที่มียอดติดตามประมาณ 100,000 คนก็ต้องเตรียมเงินไว้จ้างเขาประมาณ 10,000 บาทต่องาน
60. Micro influencer คือการไปจ้างคนที่ดังแต่ดังเป็นกลุ่มแคบๆเฉพาะเจาะจง มีคนติดตามไม่เยอะ แต่ความคิดสามารถชี้นำเพื่อนได้สูง เป็นอีกวิธีที่ใช้ทุนน้อยแต่ได้ผลดี
61. การขายสินค้าราคา 10 บาท / 1,000 บาท / 10,000 บาท / 100,000 บาท / 1,000,000 บาท ใช้วิธีการขายที่ไม่เหมือนกัน ลูกค้าที่ถามแชทก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน วิธีการเข้าหาแตกต่างกันมาก อันนี้เราต้องหากลุ่มลูกค้าของเราให้เจอ
62. การมีรีวิวสินค้าโดยผู้ใช้จริงเป็นอะไรที่สำคัญ ไม่ว่าจะภาพหรือคำพูดที่อยู่บนโลกออนไลน์คือสิ่งที่จะนำพาลูกค้าใหม่มาหาเราเสมอ มนุษย์ชอบเรื่องซุบซิบ ถ้ามีชื่อร้านของเราโผล่อยู่บน pantip ละก็นั่นคือดีมากๆ ดังนั้นจึงมียุทธวิธีกองโจรที่จะเห็นแอคหลุมไป post เชียร์ร้านต่างๆอยู่เรื่อยๆ มีทั้งจริงทั้งปลอมผสมกันไป
63. จำกฎ Pareto’s law ไว้ครับ กฎนี้คือกฎของ 80/20 ที่ลูกค้า 20% ของเราจะเป็นผู้สร้างรายได้ 80% ให้เรา
64. บางทีไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ live ขายของอย่างเดียวก็สร้างยอดขายเดือนละหลายๆล้านบาทได้ ตัวอย่างให้ดู “บังฮาซัน ขายอาหารทะเลแห้งสตูล”
65. ต้องอัพเดทหน้าเว็บไซต์ หน้าเพจเฟซบุ๊ค หรือช่องทางอื่นๆอยู่เสมอ เพื่อทำให้ลูกค้าเชื่อว่าร้านของเรายังเปิดอยู่
66. เวลาขายของ “ราคาต้องลงให้ชัด” เพราะราคาจะเป็นตัวกรองลูกค้าที่ถูกต้องไว้เสมอ เราจะได้ไม่เสียเวลาตอบแชทเพียงเพื่อจะแจ้งราคา นอกจากนี้การไม่แจ้งราคาถือว่าผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
ระบบจัดการสินค้า (Inventory)
67. ระบบคลังสินค้ามีมากมายให้เลือกให้ โดยปกติ E-marketplace จะมีระบบคลังสินค้าให้ แต่ปัญหาคือจำนวนสินค้ามันจะไม่เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ทำให้เกิดความสับสนเวลาเราขายของได้สูงมาก เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์สินค้าจริงๆหมดไปแล้ว แต่ออนไลน์กลับยังขายได้อยู่
68. ระบบคลังสินค้ากลางออนไลน์มีให้บริการแล้วเช่น Zortout ที่เชื่อมโยงได้เกือบทุก platform หรือ X-commerce แต่ก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป แต่แน่นอนว่าระบบพวกนี้มีค่าใช้จ่ายรายเดือน
69. E-marketplace อย่าง Lnwshop เนื่องจากมีระบบที่เชื่อมโยงกับ Lazada/Shopee ได้ จึงเสมือนหนึ่งในคลังสินค้าเดียวกันได้ แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับ line ได้ ระบบ point of sale อื่นๆได้
70. ระบบ Inventory ตอนนี้ยังไม่มีแบบที่ one size fit all สำหรับรายเล็กครับ รายใหญ่ไม่มีปัญหาเพราะเขาเขียนระบบใหม่ให้เขาเอง
71. ระบบ Inventory ที่ดีจะมีช่องว่างให้เราอัพเดทได้เยอะเช่น ถ้าเรามีระบบการฝาก dropship มีหน้าร้านที่มากยิ่งขึ้น หรือมีระบบตัวแทนขายสินค้า ซึ่งถ้าทุกที่สามารถเชื่อมต่อที่คลังสินค้าเดียวกันได้ การบริหารจำนวนสินค้าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ระบบจุดขาย (POS Point of Sales)
72. POS ย่อมาจาก Point of sale พูดให้เห็นภาพคือ เวลาเราไปซื้อของที่ร้านแล้วมีการยิงบาร์โค๊ด หลังจากนั้นเราได้ใบเสร็จออกมา จำนวนสินค้าที่ขายออกมาก็จะถูกตัดออกไปจากคลัง
73. สำหรับคนที่มีหน้าร้าน และ ทำระบบ Omnichannel ก็จะมีการขายสินค้าหน้าร้านควบคู่ไปกับการทำออนไลน์ ก็จะต้องมีระบบ POS ตามแบบที่เห็นในร้านค้าทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ระบบ barcode เพื่อความรวดเร็วในการขายพร้อมกับใบเสร็จที่ออกให้อย่างอัตโนมัติ และที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเรานำสินค้าออกจากหน้าร้านหลังจากขายได้ จำนวนสินค้าในออนไลน์ต้องนำออกเช่นเดียวกัน ไม่งั้นจะเกิดเหตุการณ์สินค้าหมดโดยที่เราไม่รู้ตัว
74. ระบบ POS ที่มาทำตลาดสำหรับร้านขายของในเมืองไทยมีเช่น Zortout หรือ Storehub ซึ่งมีข้อดีข้อเสียที่เหมาะกับร้านที่แตกต่างชนิดกันครับ
75. ระบบ POS ควรเลือกใช้ระบบที่อยู่บน cloud เท่านั้น เพราะจะทำให้เจ้าของสามารถเช็คยอดขายได้ตลอดเวลา
การบัญชี (Accounting)
76. ช่องทางการรับเงินควรมีอย่างน้อย บัตรเครดิต และ บัญชีธนาคาร แต่ถ้าให้ดีควรมีให้ครบทุกช่องทางที่คนไทยใช้
77. บัญชีผู้รับเงิน ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ตอนนี้เป็นธนาคารไหนก็ได้ เพราะปัจจุบันไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารแล้ว แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้า ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ธนาคารสีเขียวหรือสีม่วง ดีที่สุด
78. บัตรเครดิต ถ้ามีหน้าร้านสามารถไปขอเครื่อง EDC ได้จากธนาคาร แต่ต้องทำเอกสารพอสมควรและขึ้นอยู่กับธุรกิจ ค่าธรรมเนียมประมาณ 2 – 3.5 %
79. แต่ถ้ามีแต่ออนไลน์ สามารถรับชำระบัตรเครดิตผ่านระบบชำระเงินต่างๆได้เลยเช่น Paypal, lnwpay หรือบริษัทอื่นๆอีก แต่เตรียมตัวรับค่าธรรมเนียมประมาณ 1.5 – 3.5 % เพิ่มเติม
80. ภาษีที่เกี่ยวข้องกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คือ ภาษีเงินได้ กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น
81. ถ้ายอดขายเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 150,000 บาท รวมแล้วไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องจด VAT แต่ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาทแล้วต้องจด VAT ด้วย
82. ถ้ามีรายได้เยอะควรจดในรูปแบบบริษัทฯ นอกจากจะทำให้ธุรกิจของเราน่าเชื่อถือแล้ว เรายังสามารถใช้ระบบรายรับ / รายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
83. ปัจจุบันกรมสรรพากรมีเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีที่ มีความเคลื่อนไหวบัญชีเกิน 400 ครั้ง ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อบัญชีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ดังนั้นต้องวางแผนถ้าจะทำการค้าในรูปแบบบุคคล
84. ปัจจุบันมีโปรแกรมบัญชีออนไลน์เช่น Flowaccount หรือ Peak ที่ช่วยให้คนไม่มีความรู้บัญชีสามารถทำใบเสนอราคา ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือเอกสารสำคัญอื่นๆได้โดยง่าย
85. Flowaccount/Peak มีคอร์สเทรนนิ่งด้วยสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่
ETC
86. สำคัญที่สุดเริ่มที่ Customer journey มีลำดับขั้นตอนดังนี้ เห็น (Awareness) > สนใจ (Interest) > ตัดสินใจ (Decision) > สั่งซื้อ (Action) แต่ละขั้นตอน ความอยากซื้อของลูกค้าไม่เหมือน วิธีการเข้าหาลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน ทุกสิ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตอนที่เราเป็นลูกค้าเราไม่เคยคิด แต่พอเป็นพ่อค้าแม่ค้าแล้วต้องคิดมากๆ
87. สำหรับกลุ่มที่เดินผ่านแล้วเผอิญ “เห็น” เราต้องการให้คนเห็นของที่เราขายมากที่สุด เพราะเชื่อว่ายิ่งเห็นมาก ก็มีโอกาสขายได้มาก ถูกต้อง! วิธีการทำให้คนเห็นมากก็คือ SEO หรือ facebook ads นั่นเอง
88. สำหรับกลุ่มที่เห็นแล้วเริ่มเกิดมี “ความสนใจ” คือหยุดดูเพื่อพิจารณาว่าจะไปกดดูต่อไหม รู้ไหมครับว่าคนไทยเห็น post facebook แล้วมีเวลาแค่ 1-2 วินาทีไม่เกินนี้ก่อนจะเลื่อนพ้นไป เรามีเวลาแค่นี้เท่านั้น ในการจับความสนใจคนให้ได้ นั่นคือแปลว่าเราต้องมีชุด content ที่ดีเอาไว้โชว์
89. พอเขากดดูสินค้าของเราอย่างจริงจัง “เริ่มจะตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ” อันนี้คุณก็ต้องมีชุดข้อมูลที่เตรียมพร้อมสำหรับลูกค้าระดับนี้เช่น รีวิวสินค้าของคนที่เคยใช้มาก่อน ความน่าเชื่อถือ การบริการหลังการขาย
90. และขั้นสุดท้ายคือ “การปิดการขาย” นั่นเอง เราต้องมอบข้อเสนอที่ลูกค้าไม่อาจจะปฏิเสธได้ การใช้คำพูดหรือภาษาเพื่อเชิญชวน ใช้มารยาชักแม่น้ำทั้งห้ามากล่อม และสุดท้ายสินค้าชิ้นนั้นก็จะถูกส่งมอบออกไป
91. ต้องแยกอารมณ์ ความคิดทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา ออกจากการทำธุรกิจให้ได้ เพราะลูกค้าเรามีทุกสี เหลือง แดง ส้ม เจ้าของอาจจะมีความคิดความเชื่อในใจได้ แต่การแสดงออกต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะผลลัพธ์อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
92. ก่อนจะเริ่มขายสินค้าต้องแยกให้ได้ว่าเราอยู่ใน น่านน้ำสีอะไร
93. Red ocean คือ น่านน้ำสีแดง พื้นที่การตลาดที่เต็มไปด้วยสงครามราคา สินค้าจากแม่ค้าแต่ละคนหาความแตกต่างไม่เจอ ทุกคนเลยต้องมาตัดราคาขายแข่งกัน มักจะเป็นสินค้าแมสและราคาไม่แพง ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ร้านหมูกระทะ
94. Blue ocean คือ น่านน้าสีคราม พื้นที่ๆไม่มีการแข่งขันด้านราคาสินค้า เป็นพื้นที่การตลาดที่ทุกคนอยากหาให้เจอ ถ้ามองให้เห็นภาพก็อาจจะเป็น ร้านขายอาหารญีปุ่นแบบโอมากาเสะ
95. การตั้งราคาสินค้า ขึ้นอยู่กับเราเป็น ผู้ค้าส่ง หรือ ค้าปลีก ถ้าค้าส่งกำไรต่อชิ้นมักไม่สูงและขายเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าขายปลีกกำไรต่อชิ้นควรต้องบวกไว้พอสมควร เพราะจะมีค่าใช้จุกจิกตามมานับไม่ถ้วน ยิ่งถ้าเรารวมค่าส่งของลูกค้ามาแล้ว ค่าส่วนลดที่ลูกค้าเรียกร้องในบางโอกาสอีก ดังนั้นตัวเลขกลมๆไม่ควรน้อยกว่า 30-40%
96. การรับประกันสินค้า กล้าๆรับประกันในสิ่งที่เราขาย ถ้าเรายังไม่กล้ารับประกันคุณภาพแม้กระทั่งของที่เราขายก็อย่าไปคาดหวังว่าลูกค้าจะมั่นใจในสินค้าของเราเช่นเดียวกัน
97. Customer service เบอร์โทรศัพท์ ไลน์ ทุกอย่างต้องพร้อมให้ลูกค้าติดต่อได้ทุกเมื่อ คนไทยความอดทนต่ำมากบนโลกออนไลน์ เวลาเขาเทียบราคาสินค้าเขาเทียบพร้อมกันทุกๆร้านครับ
98. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจะขายต้องระวัง เพราะเป็นเรื่องวงจรไฟฟ้า ของเสียได้ง่าย โอกาสโดนเคลมสูงกว่า เวลาตั้งราคาต้องเผื่อการรับประกันไว้ด้วย แต่ถ้าขายของที่ตรงไปตรงมาปัญหานี้จะหายไป
99. หน้าร้านถ้ามีควรอยู่ที่ใกล้กับตำแหน่งที่ BTS, MRT เข้าถึงได้ (ถ้าเป็นไปได้)
100. อย่าลืมที่จะใส่ใจกับสิ่งเล็กๆน้อยๆที่จะส่งผลอย่างคาดไม่ถึง เช่น การใส่การ์ดใบเล็กๆน่ารักลงไปในกล่องสินค้าที่ลูกค้าสั่ง หรือการจดจำวันเกิดลูกค้าได้ อะไรแบบนี้ครับ
และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ผมสรุปได้ใน 100 ข้อพอดี บางอย่างไม่สามารถลงละเอียดได้ เพราะมันจะทำให้ข้อความมันยาวยิ่งไปกว่านี้
มีปัญหาใดๆ มาถกกันได้ครับ ช่วงชีวิตในช่วงโควิด
การบริการหลังการขาย เช่น 在 บริการหลังการขาย ไม้เด็ดมัดใจลูกค้า การบริการให้ลูกค้ารู้สึก ... 的推薦與評價
การบริการ ให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจนั้นเป็นงานที่จะต้องประกอบด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้ให้บริการจะต้องมีการฝึกฝน อบรม ปฏิบัติให้ชำนาญ อีกทั้งยังจะต้องใส่ “หัวใจ” ของผู้ ... ... <看更多>
การบริการหลังการขาย เช่น 在 Professional After-Sale Service การบริการหลังการขายแบบมือ ... 的推薦與評價
มืออาชีพบริการหลังการขายต้องรู้อะไร คอร์สออนไลน์นี้มีคำตอบ #หลักสูตรออนไลน์ Professional After-Sale Service การบริการหลังการขาย แบบมืออาชีพ ... ... <看更多>