"ระวัง ทำงานในโรงเพาะเห็ด อาจขาดขาดหายใจได้ เพราะแก๊สพิษจากการหมักวัสดุเพาะเลี้ยงเห็ด"
วันก่อนนักข่าวช่อง 3 โทรมาขอข้อมูล เรื่องเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย ภายในโรงเห็ดฟาง จังหวัดนครราชสีมา โดย 2 คนเสียชีวิตขณะพยายามเข้าไปช่วยเหลือหลานชาย ที่เข้าไปในโรงเห็ดแล้วหมดสติ ซึ่งเบื้องต้น แพทย์ที่เข้าทำการชันสูตรพลิกศพ สันนิษฐานว่า ทั้งหมด เสียชีวิตจากการขาดออกซิเจน !?
หลายคนสงสัยว่า ในโรงเพาะเห็ด มันจะเกิดการขาดออกซิเจนได้อย่างไร ? ตามข่าวก็มีพูดถึง "การรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปในโรงเพาะเห็ด" ด้วย ซึ่งอันนี้ไม่แน่ใจว่า เขาทำจริงๆหรือเปล่า เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้เห็ดเจริญเติบโตผิดปกติต่างหาก ธรรมดาจะพยายามลดก๊าซตัวนี้ในโรงเรือนกัน
แต่เมื่อเช็คข่าวย้อนกลับไปแล้ว พบว่ามีรายงานของผู้เสียชีวิตในโรงเพาะเห็ด โดยเฉพาะเห็ดฟาง กันอยู่เป็นประจำ !! จนมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตัวอย่างเช่น "การสอบสวนโรคกรณีเกษตรกรเสียชีวิตจากการทํางานในที่อับอากาศของโรงเรือนเพาะเห็ด จังหวัดอุบลราชธานี" โดย แสงดาว อุประ วท.บ., พ.บ. ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากงานวิจัย พบว่า การเสียชีวิตของเกษตรกร ขณะเข้าไปทํางานในโรงเรือนเพาะเห็ดนั้น เป็นการเสียชีวิตใน "สถานที่อับอากาศ" ที่ถูกปิดคลุมมิดชิดด้วยพลาสติกใสทุกด้าน !
และในโรงเรือนเพาะเห็ด ก็มี "ก๊าซชีวภาพ" เกิดขึ้นจากกระบวนการหมัก ของวัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟางได้แก่ กากมันสําปะหลัง มูลวัวมูลควาย รําข้าวอ่อน ปุ๋ยยูเรีย
เมื่อวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดเกิดกระบวนการหมักขึ้น จะได้ก๊าซชีวภาพ คือ ก๊าซมีเทน (CH4) ประมาณ 50-
70% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 30-50% ที่เหลือเป็นก๊าซชนิดอื่น ๆ เช่น ไฮโดรเจน
(H2) ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2
S) ไนโตรเจน (N2) และไอน้ำ
ผลการตรวจระดับของแก๊สในโรงเรือน บวกกับผลการผ่าพิสูจน์ศพทางนิติเวช และผลตรวจเลือดจากศพ ยืนยันการวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ โดยเกิดจากก๊าซกลุ่ม asphyxiant (กลุ่มของก๊าซที่เกิดจากกระบวนการหมักของวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดฟาง) ออกฤทธิ์แทนที่ก๊าซออกซิเจนในอากาศ ทําให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในอากาศ ตํ่ากว่าปรกติ
ยิ่งอยู่ในสถานที่ปิดคลุมมิดชิด การระบายอากาศไม่เพียงพอ ก๊าซจากกระบวนการหมักยิ่งมากขึ้น ปริมาณออกซิเจนยิ่งลดลงตํ่ากว่าระดับที่สามารถทํางานได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลางและระบบหัวใจ ทําให้ผู้ที่เข้าไปทํางานในที่อับอากาศ หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหมู่ หากมีเกษตรกรเข้าไปทํางานในโรงเรือนเพาะเห็ด แล้วหมดสติ ควรระมัดระวังในการช่วยเหลือ ควรเปิดโรงเรือนให้โล่ง มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ ใช้พัดลมเป่าเพื่อช่วยในการระบายอากาศ (ถ้ามี) ไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง
หน่วยกู้ชีพที่เข้าไปช่วยเหลือหรือเก็บศพ ก็ควรตรวจวัดก๊าซด้วยเครื่องวัดก๊าซก่อน (ถ้ามี) ควรสวมชุดที่มีอุปกรณ์ช่วยหายใจ
หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องอบรมให้ความรู้ กับเกษตรกรที่ทําฟาร์มเพาะเห็ดฟาง ในเรื่องการป้องกันตัว ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการทํางานในที่อับอากาศ เช่น เมื่อจำเป็นต้องเข้าไปทํางานในโรงเรือนเพาะเห็ดในระยะอันตราย ก็ควรเปิดโรงเรือนให้โล่ง มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ เสียก่อนที่จะเข้าไป
ข่าว และ ภาพ จาก https://ch3plus.com/news/program/248369
ข้อมูลงานวิจัย จาก https://thaidj.org/index.php/JHS/article/download/668/595/667&ved=2ahUKEwji-_KE_N_xAhWxyDgGHZCvD1kQFnoECBYQAQ&usg=AOvVaw1cP2eFQiuMUhs4_OoMY4OL&cshid=1626176643788
Search