"พัฒนาการของรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ"
สิทธิกร ศักดิ์แสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
การพัฒนาการของรัฐธรรมนูญของต่างประเทศที่น่าสนใจแบ่งออกตามสมัยหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในการปกครอง ผู้เขียนขออธิบายพัฒนาการของรัฐธรรมนูญตามความเหมาะสมและตามสถานการณ์ได้ 5 สมัยด้วยกัน ดังนี้
1.1 พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยแรก
พัฒนาการของรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยแรกเริ่มตั้งแต่สมัยกรีก โรมันถึงยุโรป ก่อน ค.ศ. 1215 ในสมัยก่อนการประกาศใช้มหาบัตรย้อนขึ้นไป รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศจะมีลักษณะเลื่อนลอยกำหนดแน่ชัดไม่ได้ มีบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรไว้บ้าง เป็นจารีตประเพณีบ้าง เป็นโองการของกษัตริย์เป็นครั้งคราวตามพระราชอัธยาศัยบ้าง อาจรวมอยู่ในที่เดียวหรือกระจัดกระจายหลายที่บ้าง ที่สำคัญ คือ หาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ อริสโตเติล (Aristotle) รวบรวมรัฐธรรมนูญนครรัฐต่างๆของกรีก 158 แห่ง ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นลักษณะเด่นชัดร่วมกันของรัฐธรรมนูญ 158 ฉบับนั้น นอกจากอธิบายว่าเป็นกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติทางการเมืองและการจัดองค์กรปกครองอย่างหยาบๆในแต่ละนครรัฐเพราะแต่ละนครรัฐจะมีความแตกต่างกันในการใช้อำนาจปกครอง เช่น นครรัฐเอเธนมีต้นรากเง่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย นครรัฐสปาตาร์มีต้นรากเง่าของการปกครองระบอบเผด็จการ เป็นต้น
สมัยโรมันได้มีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น อัลเปียน (Ulpian) กล่าวกล่าวถึงแนวคิดเรื่องกฎหมายมหาชน (jus publicum) กับกฎหมายเอกชน (jus privatum) แต่ผู้ปกครองและนักกฎหมายโรมันให้ความสำคัญกับกฎหมายเอกชนมากกว่า เพราะถือว่ากฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายสำคัญของในชีวิตประจำวัน ส่วนกฎหมายมหาชนเป็นเครื่องมือในการปกครองแผ่นดินจึงควรปกปิดเป็นความลับ ให้รู้กันในหมู่ผู้ปกครองและผู้มีหน้าที่เกี่ยวด้วยการปกครองแผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทำนองข้อบังคับการประชุมสภาโคมิเทีย (Comitia) กับสภาซีเนท (Senate) ซิเซโร (Cicero) นักปรัชญากฎหมายในสมัยนั้นกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง "กฎหมายเหนือกฎหมาย" ได้อธิบายว่ากฎหมายมี 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทแรก คือ กฎหมายธรรมดา (กฎหมายบ้านเมือง หรือ Positive Law) เป็นกฎหมายที่ไม่เที่ยงแท้
ประเภทที่สอง คือ กฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) เป็นกฎหมายที่แท้จริง
ต่อมาได้นำแนวคิดนี้มาอธิบายในหลายสาขาด้วยกัน เช่น เรื่องของคริสต์ศาสนาชี้ว่ากฎหมายที่แท้จริงหรือกฎหมายที่อยู่สูงกว่ากฎหมายบ้านเมือง (กฎหมายธรรมดา) ส่วนเรื่องทางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็อธิบายว่าภายในแต่ละรัฐ กฎหมายก็แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่อยู่ในระดับสูงกับบรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลายเป็นเพียงกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีฐานะสูงกว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้
เมื่ออาณาจักรโรมันสิ้นสุดลงอารยธรรมทางการปกครองเริ่มปรากฏขึ้นในประเทศอังกฤษ ประมาณ ค.ศ. 1164 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการปกครองในระบบศักดินาสวามิภักดิ์และความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร ซึ่งเรียกว่า “ธรรมนูญแห่งคาเรนดอล” (Constitutions of Clarendon) เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญอย่างที่เข้าใจกันต่อมา แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสมัยนี้จึงยังไม่ชัดเจนนักนอกจากเป็นพื้นฐานทางความคิดเท่านั้น
สรุปกฎหมายรัฐธรรมนูญในสมัยนี้มีลักษณะราชาธิปไตยโดยแท้และถือว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแต่หากจะมีข้อกำหนดใดที่ทำให้ราษฎรมั่นคงปลอดภัยและพระมหากษัตริย์ทรงไว้คุณธรรม เป็นเรื่องการยับยั้งชั่งใจของพระองค์เองหาเป็นเพราะกฎหมายในการจำกัดอำนาจไม่
1.2 พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สอง
พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สองเริ่มนับตั้งแต่มีการประกาศใช้มหาบัตร (Magna Carta) ของประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1215 เป็นต้นมา จนถึงสมัยประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาใน ปี ค.ศ.1776 ในระยะนี้ขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญเริ่มชัดมากขึ้น เพราะจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญได้นั้นต้องเป็นกฎหมายที่จำกัดอำนาจของผู้ปกครองประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นกฎเกณฑ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญ ดังนี้
1.2.1 การประกาศใช้มหาบัตร
ตามประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษกล่าวว่า พระเจ้าจอห์นเป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายทารุณมาก นอกจากนั้นยังโปรดทำสงครามและการขยายดินแดน เมื่อกรีธาทัพไปถึงที่ใดก็ออกพระบรมราชโองการเกณฑ์ให้ราษฎรในละแวกนั้นมาต้อนรับและดูแลกองทัพ เป็นเหตุให้เดือดร้อนไปทั่วและที่สำคัญยังได้ขัดแย้งกับศาสนจักรอย่างรุนแรง เรียกได้ว่าทรงเปิดศึกกับฝ่ายตรงกันข้ามทุกทางพร้อมกัน ในที่สุดปี ค.ศ. 1215 บรรดาขุนนางชั้นบารอน จำนวน 25 คนและพระราชาคณะอีก 33 รูป เกิดความไม่พอใจจับอาวุธขึ้นสู้กับพระเจ้าจอห์น ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่งซึ่งบางส่วนดัดแปลงมาจากธรรมนูญแห่งคาเรนดอล (Constitutions of Clarendon) และบางส่วนร่างขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับกาลสมัย เอกสารนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “มหาบัตร” (The Great Charter) ซึ่งเอกสารฉบับนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการในภายหลังเป็นภาษาลาตินว่า “แมกนา คาร์ตา” (Magna Carta) แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) มีทั้งสิน 63 มาตรา มีหลักการที่สำคัญอยู่สองส่วน คือ ส่วนแรกกำหนดว่ากษัตริย์จะเรียกเก็บภาษีอากรจากราษฎรได้เท่าที่ประเพณีดั้งเดิมกำหนดไว้เท่านั้น ถ้าต้องการเก็บภาษีเพิ่มต้องขอความเป็นธรรมของสภาทั่วไปแห่งราชอาณาจักรที่เรียกว่า The Great Council เสียก่อน ส่วนที่สอง ห้ามมิให้มีการจับกุม จำคุก หรือเนรเทศบุคคลโดยไม่มีการพิจารณาพิพากษาคดี โดยผู้มีสถานภาพหรือศักดิ์เท่าเทียมกันตามกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งแปลความได้ว่า ผู้ปกครองจะกดขี่ข่มเหงราษฎรตามอำเภอใจมิได้ ซึ่งต่อมาเรียกหลักการนี้ว่าการปกครองแบบนิติรัฐที่ยึดหลักนิติธรรม
แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) กลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในฐานะรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรากฐานการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แมกนา คาร์ตา(Magna Carta) เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในโลกที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็มีการจำกัดตัดทอนอำนาจของรัฐ ทำให้ประเทศอังกฤษเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประเทศแรก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้กล่าวว่า แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต้นแบบฉบับแรกของโลก แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) มีอิทธิพลอย่างยิ่งในยุโรปในเวลาต่อมาและเป็นแบบอย่างให้มีการจัดทำเอกสารทำนองนี้ขึ้นในหลายประเทศ
1.2.2 ลักษณะเด่นของการประกาศใช้มหาบัตร
ลักษณะเด่นหรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในสมัยที่สองนี้ คือ รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารซึ่งมุ่งจะจำกัดอำนาจอันล้นพ้นของรัฐบาล (ของกษัตริย์) ให้อยู่ในกรอบและมุ่งที่จะชี้แจงสิทธิของราษฎรให้เห็นชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร การจำกัดอำนาจรัฐในขณะที่ขยายสิทธิของราษฎรเป็นการวางกฎเกณฑ์การปกครองประเทศในสมัยดังกล่าวยังไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะในส่วนของรัฐเองว่าเป็นใคร มาจากไหน แบ่งสันปันส่วนอำนาจกันเองในบรรดาผู้ปกครองรัฐอย่างไร ใครมีอำนาจหน้าที่อะไรมากน้อยเพียงใดกฎเกณฑ์เหล่านี้มาปรากฏชัดขึ้นในสมัยที่สามในเวลาต่อมา
ข้อสังเกต ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยที่สองกับสมัยที่สามนี้ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏเป็นรูปร่างมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจาก แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) และกฎหมายอื่นๆของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นหลักในการปกครองประเทศเช่นเดียวกับแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) เช่น การที่ขุนนางให้พระเจ้าชาร์ลลงนามในคำขอสิทธิ (Petition of Rights) พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill Of Rights) เป็นต้น เอกสารสามฉบับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นหลักการที่สำคัญ 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก มีความพยายามที่จะนำกฎหมายลายลักษณ์อักษรเข้ามาแทนจารีตประเพณีที่มีความไม่แน่นอน เพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครอง
ประการที่สอง การพัฒนาช่วงแรกนี้ยืนอยู่บนข้อตกลงที่เรียกว่า “สัญญาสังคม” การที่ขุนนางขอให้พระเจ้าจอห์นลงนามในแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) หรือมหาบัตรรัฐธรรมนูญก็ดี การที่ขุนนางให้พระเจ้าชาร์ลลงนามในคำขอสิทธิ (Petition of Rights) ก็ดี อยู่บนความคิดพื้นฐานที่ว่าผู้ปกครองคือ กษัตริย์ต้องปกครองประชาชนตามจารีตประเพณีที่เป็นเสมือนสัญญาสังคมที่ได้รับการยอมรับมาในอดีต เมื่อผู้ปกครองไม่ทำตามคำมั่นสัญญานั้น ผู้อยู่ใต้การปกครอง คือ ขุนนางและประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเรียกทวงให้ผู้ปกครองปฏิบัติตามสัญญาที่เคยมีมา
ประเทศอังกฤษได้สร้างและพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง ตลอดจนจารีตประเพณีทางการปกครองขึ้นหลายๆเรื่อง ความคิดเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้ประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญเข้าสู่สมัยที่สามและพัฒนาต่อไปอีกรูปแบบหนึ่ง ในแนวทางที่ผิดแผกแตกต่างจากสมัยที่สองแต่ชัดเจนขึ้นจนใกล้กับความเข้าใจในปัจจุบัน
1.3 พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สาม
พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สามเริ่มนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1776 เป็นต้นมาจนถึงสมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945 ในช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลายหน คือ มีการจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะรัฐธรรมนูญนิยม ดังนี้
1.3.1 การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญนิยม
สมัยที่สามเริ่มด้วยการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 ได้กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระเบียบเป็นครั้งแรก ชื่อ “บทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐ” (Articles of Confederation) รวมเอาดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ 13 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เป็นประเทศ “สหรัฐอเมริกา” (The United States of America) แต่การจัดรูปแบบของประเทศเป็นแบบสมาพันธรัฐ คือการนำรัฐมารวมอย่างหลวมๆ แต่ละรัฐยังคงมีอำนาจอิสระเหมือนเดิมทุกประการ ไม่มีอะไรที่เป็นของกลางใช้ร่วมกันหรือเป็นศูนย์กลางของการปกครองร่วมกัน นอกจากนี้บทบัญญัตินี้ยังไม่เรียกตัวเองว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) หากแต่เรียกว่า “บทบัญญัติ” (Articles) เป็นการจัดทำกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองอย่างเป็นระเบียบและกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองต่างๆไว้ ต่อมามีการยกเลิกบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ใน ค.ศ.1789 เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา” (The Constitution of the United States) ซึ่งเป็นการใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution) เป็นครั้งแรก
การจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1789 (รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ในสมัยนั้นถือกันว่าเริ่มมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่จะมีความหมายแค่การจำกัดอำนาจของรัฐบาลอย่างเดียวยังไม่พอ หากถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกฎเกณฑ์การปกครองประเทศซึ่งจะมีขึ้นด้วยความสมัครใจของราษฎรและจำต้องว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศอย่างเป็นสัดส่วน มีการแบ่งแยกอำนาจและมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของราษฎร มีการวางกฎเกณฑ์การปกครองอย่างเป็นระเบียบอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น มีการแยกองค์กรปกครองออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ตามหลัก “การแบ่งแยกอำนาจ”(Separation of powers) มีการระบุให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ มีการยอมรับอำนาจสูงสุดของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา โดยเรียกว่า “อำนาจอธิปไตย”(Sovereignty) เป็นต้น เหตุการณ์นี้ทำให้ความคิดที่จะจัดทำกฎหมายลายลักษณ์อักษร การกำหนดรูปแบบการปกครองประเทศให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นการย้ำหลักที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มเอาไว้ และเป็นการแยกตัวออกจากสมัยที่สองที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลทางความคิดของประเทศอังกฤษอย่างชัดแจ้ง
การจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญมิได้เป็นเพียงเอกสารจำกัดสิทธิของผู้ปกครองเท่านั้น แต่ต้องสมบูรณ์ด้วยเนื้อหาและหลักเรื่องรัฐจากความเห็นชอบของราษฎร (Government by consent the people) การแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) และการคุ้มครองสิทธิของราษฎร (Guarantee of rights) ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญกับความคิดเรื่องประชาธิปไตยเป็นความคิดที่ใกล้เคียงกันจนถึงขนาดกล่าวกันว่า “กฎหมายการเมืองการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “ทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม”(Constitutionalism)และเป็นแบบอย่างในการปฏิวัติครั้งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1789 ได้มีการประกาศใช้ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ซึ่งภายหลังได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1791 และได้แพร่หลายในยุโรปหลายประเทศด้วยกัน เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศสวีเดน ประเทศสเปน ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น
1.3.2 กระแสแนวคิดที่เกิดรัฐธรรมนูญนิยม
กระแสแนวคิดที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญนิยมสมัยที่สามนี้มีอยู่ 2 กระแสแนวคิดด้วยกัน คือ
1.3.2.1 กระแสแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติ
กระแสแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) มีลักษณะเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์เป็นนิจนิรันดร์ เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้กำหนด มีความจำเป็นนิจนิรันดร์หรือถาวรตลอดไป มีลักษณะสากลไม่ว่าชาติใดต่างอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันและมีความเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้นกฎหมายธรรมชาติเป็นกระแสที่มีความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญนิยมเป็นอย่างยิ่งเพราะได้ยืนยันว่าเหนืออำนาจของผู้ปกครองยังมีอำนาจเหนือกว่า สิ่งนั้น คือ กฎหมายธรรมชาติอันเป็นกฎของเหตุและผล แนวคิดกระแสนี้นำไปสู่การจำกัดอำนาจผู้ปกครองและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเวลาต่อมา
1.3.2.2 กระแสแนวคิดทฤษฎีเสรีนิยมประชาธปไตย
แนวคิดทฤษฎีเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมีกระแสความคิดปรัชญาแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของทฤษฎีเสรีนิยมประชาธิปไตย คือ แนวคิดสัญญาประชาคมกับและแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจ ดังนี้
1. แนวคิด “สัญญาประชาคม”(Social Contract) ที่นักปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียง คือ โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) จอห์น ลอค (John Locke) และฌอง ชาค รุสโซ (Jean Jaque Rousseau) มีแนวคิดที่ว่ามนุษย์โดยสภาพธรรมชาติมีอิสระ เสรีภาพเต็มที่และมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ต่อมามนุษย์เห็นว่าการเข้ามาเป็นสังคมจะทำให้ได้รับประโยชน์มากกว่า เช่น ไม่ต้องเผชิญกับภัยจากธรรมชาติ ภัยจากสัตว์ร้ายหรือการข่มเหงจากคนที่แข็งแรงกว่าโดยลำพัง เป็นต้น ทั้งยังไม่ต้องทำอะไรเองทุกอย่าง ใครมีอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อเข้ามารวมกันเป็นสังคมแล้ว ก็มีการทำข้อตกลงว่าจะยอมสละสิทธิและเสรีภาพที่ตนเคยมีอยู่ตามสภาพธรรมชาติอย่างเต็มที่ให้เป็นของสังคมส่วนหนึ่ง สังคมจะจัดการให้เกิดระบบที่ทำให้เกิดความผาสุกร่วมกันโดยมีผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสังคม และมีระบบการจัดการข้อพิพาท จึงต้องมีการมีการทำให้สัญญาประชาคมมีความชัดเจนขึ้นโดยการเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
2. แนวคิด “หลักการบ่งแยกอำนาจ" (Separation of Powers) ในการใช้อำนาจอธิปไตย มีนักปรัชญาการเมืองที่สำคัญคือ มองเตสกิเออ (Montesquieu) ที่อธิบายว่าถ้าอำนาจสูงสุดทั้งหมดรวมอยู่ในคนเดียว คนคนนั้นมีอำนาจทั้งออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมาย (ตัดสินตามกฎหมาย) สิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่อยู่ภายใต้ปกครองก็จะถูกริดรอนหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ง่าย ดังนั้นเพื่อที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นที่จะต้องแยกผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายกับอำนาจในการใช้กฎหมายออกจากกัน
ในปลายสมัยนี้ คือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเกิดขึ้น ได้มีการต่อสู้ทางความคิด ในเรื่องลัทธิการเมืองเกิดขึ้นในยุโรป คือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมลัทธิประชาธิปไตยและฝ่ายนิยมลัทธิเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้รวมไปถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งกำลังค่อยๆแปรสภาพไปเป็นระบอบอื่น เช่น ระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีเป็นประมุขบ้าง ประชาธิปไตยแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุขบ้าง เพราะในเวลาต่อมารัฐที่เคยเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ในอารักขาของรัฐอื่นพยายามดิ้นรนจะยกตัวเองเป็นประเทศอิสระ รัฐใหญ่ที่มีราษฎรต่างเชื้อชาติ สัญชาติหรือศาสนา ก็พยายามดิ้นรนจะแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระหลายรัฐ ซึ่งความพยามยามดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็โดยอ้างวิถีทางประชาธิปไตย เช่น เรื่องสิทธิในการตัดสินใจตนเอง (Right of Self Determination) ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งใฝ่หากันอย่างหนักในขณะนั้น แม้ว่าอาจจะเป็นประชาธิปไตยเพียงในนามหรือเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจจากคนหมู่หนึ่งไปสู่คนอีกหมู่หนึ่งก็ตาม แต่การดังนี้จะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อได้รับความสนับสนุนจากมหาชน ซึ่งจำเป็นต้องอ้างคำว่าประชาธิปไตยขึ้นบังหน้าอยู่นั่นเอง
1.4 พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สี่
พัฒนาการรัฐธรรมนูญในสมัยที่สี่ เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองในศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 ในสมัยนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ อาทิ เช่น เกิดองค์การสหประชาชาติ องค์การร่วมระหว่างภูมิภาคขึ้น เป็นต้น
คำว่า “รัฐ” (State) นั้นเป็นคำใหม่เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งแต่ก่อนมีแต่คำว่า “ชาติ” (Nation) ที่มาจากกลุ่มคนที่มีชาติพันธ์เดียวกัน สืบเชื้อสายโดยสายเลือดเดียวกัน หรือเกิดความรู้สึกร่วมกัน ซึ่งในยุโรปมีพื้นดินใกล้เคียง ความสัมพันธ์ก็มีมากขึ้นทั้งด้านสันติภาพและสงคราม ดังนั้นการเคลื่อนย้ายผู้คนมาอีกชาติหนึ่งไปยังอีกชาติหนึ่งก็เกิดขึ้น เกิดลักษณะผสมผสานระหว่าเชื้อชาติ คำว่า “รัฐ” ก็เกิดขึ้นมา ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 อย่างรวมกันเป็น รัฐ คือ
-มีดินแดน ที่แน่นอนว่าตั้งอยู่ในส่วนไหนของโลก
-มีประชากรที่อยู่ประจำไม่ใช่พวกเร่ร่อน
-มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐ
-มีรัฐบาล(ผู้ปกครองรัฐ)
ในยุโรปเรียกชื่อว่า "รัฐ" กับ "ชาติ" ปะปนกันแต่ใช้คู่ขนานกันว่า “ชาติรัฐหรือรัฐชาติ”ดังนั้น รัฐชาติ (Nation State) คือ ความคิดความเป็นชาตินิยมและเน้นในเรื่องความสำคัญในการปกครอง จุดนี้เองเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกอันหนึ่งของกฎหมายธรรมชาติที่มีปรัชญากฎหมายบ้านเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อการการสร้างรัฐชาติและการมีรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆในเวลาต่อมา ดังนี้
1. มีการแตกแยกรัฐออกเป็นหลายรัฐ เช่น ประเทศเยอรมันตะวันตกและประเทศเยอรมันตะวันออก ประเทศเวียดนามเหนือและประเทศเวียดนามใต้ ประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้
2. มีการประกาศอิสระภาพของบรรดารัฐทั้งหลายที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจต่างๆก็ได้เอกราช เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศมาเลย์เซีย ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ซึ่งประเทศต่างๆเหล่านี้ข้างต้นได้นำแนวคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (Positive Law) และนำแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้แนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจึงกว้างขวางมากขึ้นจนในที่สุดเป็นที่ยอมรับกันว่าแท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญเป็นคำกลางๆสำหรับใช้เรียกกฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศของแต่ละประเทศเท่านั้น ส่วนที่ว่าจะยอมใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ ก็สุดแท้แต่รูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจนิยมแบ่งแยกอำนาจแบบเคร่งครัดตามหลักการระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดี (Presidential system) ประเทศอังกฤษอาจนิยมการแบ่งแยกอำนาจแบบไม่เคร่งครัดตามหลักการระบบรัฐบาลแบบรัฐสภา (Parliamentary system) เป็นต้น
1.5 พัฒนาการของรัฐธรรมนูญในสมัยปัจจุบัน
พัฒนาการของรัฐธรรมนูญในสมัยปัจจุบันนี้ รัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่สร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ประเทศต่างๆ ในปัจจุบันจึงลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบการปกครองในแต่ละระบบรัฐบาล พิจารณาได้ดังนี้
1.5.1 ประเทศที่ลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบการปกครองระบบรัฐบาลแบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ
ประเทศลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบการปกครองระบบรัฐบาลแบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ คือ ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎร แล้วผู้แทนราษฎรไปจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลที่อยู่ได้ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
แต่อย่างไรก็ตามประเทศที่ลอกเลียนแบบการปกครองระบบรัฐบาลแบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษมาใช้นั้น บางประเทศที่ไม่ได้มีพรรคการเมืองใหญ่เพียงสองพรรคไม่ว่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนีหรือประเทศไทย ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ประเทศเหล่านี้พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมีหลายพรรค ไม่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง รัฐบาลจึงต้องเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลผสมรัฐบาลย่อมไม่มีเสถียรภาพที่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลขัดกันหรือไม่ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้เพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ
1.5.2 ประเทศที่ไปลอกรูปแบบการปกครองในระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่ไปลอกรูปแบบการปกครองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในระบบประธานาธิบดีที่ใช้ระบบการเมือง 2 พรรคการเมืองและใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจค่อนข้างเคร่งครัด ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นต้น แล้วนำมาสร้างปรับปรุงหรือดัดแปลงระบบการปกครองที่ให้สอดและเหมาะสมของแต่ละประเทศเช่นกัน
1.5.3 ประเทศที่นำข้อดีรูปแบบการปกครองในระบบรัฐบาลแบบรัฐสภากับข้อดีในระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีมาผสมผสานกัน
ประเทศที่นำข้อดีรูปแบบการปกครองในระบบรัฐบาลแบบรัฐสภากับข้อดีในระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีมาผสมผสานกันดังนี้
1. หลักการปกครองในระบบรัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดี-กึ่งรัฐสภา เช่น ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
2. หลักการปกครองในระบบรัฐบาลภายใต้รัฐสภาหรือระบอบสมัชชา เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ในปัจจุบันแนวคิดที่ว่าการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) ที่ปรากฏอยู่ในตามรัฐธรรมนูญนั้น อาจเป็นเรื่องล้าสมัย หากแต่ควรยึดหลักการแบ่งหน้าที่ (Function of powers) มากกว่า ซึ่งเป็นการจำกัดอำนาจรัฐ เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการปกครองแบบนิติรัฐ (Legal States) ที่ยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law)คือ รัฐจะกระทำการใดๆได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจและรัฐต้องกระทำภายในขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจ (หลักนิติรัฐ) โดยรัฐต้องกระทำอย่างเสมอภาคเท่าเทียมในทางกฎหมาย (หลักนิติธรรม) เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
「อริสโตเติล แนวคิด」的推薦目錄:
อริสโตเติล แนวคิด 在 สิ่งขบคิด : Food for Thought - อริสโตเติล (๓๘๔-๓๒๒ BC) เกิด ... 的推薦與評價
... อริสโตเติลนี้ สอดคล้องกับแนวคิดการเมืองภาคพลเมืองในปัจจุบัน ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญของ ... ... <看更多>
อริสโตเติล แนวคิด 在 อริสโตเติล (Aristotle) - YouTube 的推薦與評價
อริสโตเติล (Aristotle). 14K views · 3 years ago ... <看更多>
อริสโตเติล แนวคิด 在 Business+ - ย้อนรอยแนวคิด 2 ผู้ให้กำเนิดเศรษฐศาสตร์ เพลโต & ... 的推薦與評價
อริสโตเติล . ก่อนจะมาเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ครั้งแรกบนโลก บัญญัติขึ้นจากนักปรัชญากรีกผู้โด่งดัง 2 ... ... <看更多>