การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) กับ คอมมอนลอว์ (Common Law)
รศ.สิทธิกร ศักดิ์แสง*
นายพรเลิศ สุทธิรักษ์**
นายนันทชัย รักษ์จินดา***
สืบเนื่องจากศูนย์บริการวิชาการเผยแพร่ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายและการวิจัยแก่ประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยตาปี ร่วมกับนายธีระศักดิ์ ปางวิรุฬห์รักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จังหวัดชุมพร จัดทำโครงการเรื่อง “หลักธรรมาภิบาลสำหรับผู้นำท้องที่และท้องถิ่น” มีประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ได้จัดทำเป็นเอกสารเพื่ออธิบายแก่ผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่นไปแล้วนั้น ได้มีการสอบถามถึงต่างประเทศว่ามีประเทศอะไรได้ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา ผู้บรรยาย (รองศาสตราจารย์สิทธิกร ศักดิ์แสง) ได้นำประเด็นนี้มาพูดคุยกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทำให้มีบทความนี้ขึ้นมา
แนวความคิดการะบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญามีการทดลองดำเนินการใช้วิธีเชิงสมานฉันท์คดีแรกเกิดขึ้นที่เมืองคิชเนอร์ (Kitchener) มลรัฐออนทราริโอ ของประเทศแคนาดา กลายเป็นคดีที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของนานาชาติในเวลาต่อมากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ในการระงับข้อพิพาทคดีอาญา เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ใช้ควบคู่ไปกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระแสหลัก (Maim Stream Justice) (กระบวนการยุติธรรมตามปกติ) มิใช่เข้าไปแทนที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาจึงมีแนวคิด หลักการ และลักษณะพิเศษที่แตกต่างออกไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก และจากเหตุผลที่แตกต่างกันนี้จึงส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ทางอาญา คือ
1. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นตำรวจ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นตำรวจ ซึ่งโดยปกติตำรวจจะมีหน้าที่หลัก คือ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ตำรวจสามารถใช้ดุลพินิจได้เมื่อสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้ คือ การใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ที่อยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน ในกรณีที่นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญามาใช้ เช่น การตักเตือน ซึ่งการตักเตือนนั้นมีได้ 2 ลักษณะดั้งนี้
1) การตักเตือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการ ตักเตือนด้วยวาจา ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่ไม่รุนแรงและมีพยานหลักฐานพอที่จะตั้งข้อหาได้และผู้กระทำความผิด
2) การตักเตือนอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การทำเป็นหนังสือตักเตือน ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดซ้ำ
2. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานอัยการ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งในชั้นพนักงานอัยการสามารถนำเอากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญามาใช้ได้ หากขั้นตอนนั้นนำมาซึ่งความพอใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธี การต่อรองคำรับสารภาพหรือ การสั่งชะลอการฟ้อง คือ กรณีที่พนักงานอัยการได้พิจารณาถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นและการกระทำของผู้กระทำความผิดแล้วเห็นว่ายังไม่ควรสั่งฟ้องคดี โดยพิจารณาจากประวัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแล้วเห็นว่าไม่เคยต้องโทษจำคุก หรือเคยรับโทษแต่เป็นกรณีประมาท จึงสั่งชะลอฟ้องไว้และรอฟังรายงานความประพฤติ หากพ้นกำหนดแล้วผู้กระทำความผิดไม่ได้กระทำความผิดซ้ำหรือไม่ได้ผิดเงื่อนไข ก็จะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีมีผลให้คดีระงับไป
3. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นศาล กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นศาล เช่น ประเทศแคนาดา ได้นำมาปรับใช้ในคดีอาญาความผิดฐานฉ้อโกงที่มีราคาทรัพย์มากกว่า 20,000 ดอลล่าร์, ความผิดฐานปล้นทรัพย์, ความผิดเกี่ยวกับเพศ, ความผิดฐานลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่, ความผิดฐานประมาท ศาลมีอำนาจส่งคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ โดยส่งคดีให้คณะกรรมการชุมชนดำเนินการพิจารณาตามโครงการไกล่เกลี่ยตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
4. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นราชทัณฑ์ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการะงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นราชทัณฑ์ เป็นกระบวนการนำผู้กระทำความผิดที่มีความเสี่ยงเล็กน้อย ออกไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยนำบุคคลเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการชุมชนบำบัด (Community-based Corrections) ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพาทคดีอาญาโดยใช้ชุมชนบำบัดซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม เพราะบุคคลส่วนใหญ่ที่กระทำความผิดจะเป็นคดีประเภทความผิดเล็กน้อย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะคุมขังทุกๆคน สำหรับความผิดอาญาทุกข้อหา ดังนั้นการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาเพื่อการปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำความผิดโดยให้มีชุมชนมีส่วนร่วม เพราะจากสภาพปัญหาของจำนวนบุคลากรและราชทัณฑ์มีจำนวนจำกัด เรือนจำควรมีไว้สำหรับผู้กระทำความผิด ที่มีลักษณะความผิดที่รุนแรงจำเป็นต้องนำตัวผู้กระทำความผิดกันออกจากสังคม
กระบวนการชุมชนบำบัดของราชทัณฑ์มีสิ่งที่ตามมาคือ การช่วยให้ผู้กระทำความผิดกลับคืนเข้าสู่สังคม (Reintegration) เป็นกระบวนการที่จะเตรียมการทั้งสังคมและผู้กระทำความผิด โดยคาดหวังว่าหลังจากที่ผู้กระทำความผิดกลับเข้าสู่สังคมแล้ว จะปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นที่ยอมรับของสังคม คือ ทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่เข้ากับสังคมได้และหลังจากที่มีการบำบัดแล้ว บุคคลดังกล่าวต้องเกิดกรเปลี่ยนแปลงในที่ดีขึ้นภายในตัวเอง ภายในครอบครัว เพื่อนหรือสถาบันที่อยู่รอบตัว
แต่ในบทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของต่างประเทศที่มีใช้ในชั้นสอบสวนเท่านั้น คือ กระบวนการที่มีการพิจารณาคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นชั้นตำรวจ ในชั้นอัยการในการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ โดยแยกพิจารณาตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) กับระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงแนวทางกระบวนการนิติวิธีเชิงเปรียบเทียบกฎหมายเพื่อการบัญญัติกฎหมายรองรับการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นสอบสวนของประเทศไทย ดังนี้
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวนของระบบกฎหมายแบบซิวิลลอว์
ประเทศที่ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนที่ใช้กันอยู่ในระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศสเปน ประเทศออสเตรีย ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมัน โดยผู้วิจัยจะทำการสรุปสาระสำคัญของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวของแต่ละประเทศ ข้างต้นดังต่อไปนี้
1. ประเทศเนเธอแลนด์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนได้มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยคดีเยาวชนส่วนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำความผิดนั้น ในข้อกำหนดว่าด้วยการดูแลผู้เสียหายปี ค.ศ. 1995 แก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1999 ดังนี้
1) มาตรการเบี่ยงเบนคดีสำหรับคดีเยาวชนนั้นได้มีโครงการ HALT (The Al Ternative) ได้แก่ ประเภทความผิดซึ่งมีอัตราโทษสถานเบาและความผิดประเภทที่พนักงานอัยการเห็นควร ในทางปฏิบัติจะเน้นไปที่ความผิดประเภททำให้เสียทรัพย์ ลักทรัพย์ในร้านและความผิดลหุโทษ โดยเป็นการจัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด ซึ่งเสนอทางออกให้แก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนในการยุติคดีแพ่งหรือคดีอาญา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายมีจุดมุ่งหมายนำไปสู่การที่ผู้กระทำความผิดจะตกลงทำงานบริการสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเข้าร่วมในรายการฝึกอบรม และอาจมีการกำหนดให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายหรือแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น
2) มาตรการเบี่ยงเบนคดีสำหรับผู้ใหญ่ นั้นได้มีโครงการอยู่ 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการยุติธรรมในระหว่างเพื่อนบ้าน (Justice in the Neighbour hood) ซึ่งเป็นโครงการประนีประนอมยอมความที่จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานอัยการและใช้ในคดีความผิดเล็กๆน้อยๆ ในกรณีที่ทั้งผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายต่างรู้จักซึ่งกันและกันหรืออาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จะได้รับการแนะนำให้เข้าสู่โครงการนี้ เพื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีที่จะติดต่อสื่อสารกันต่อไปด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้กระทำความผิดจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ผลสำเร็จของการไกล่เกลี่ยจะนำไปสู่การเบี่ยงเบนคดี
(2) โครงการไกล่เกลี่ยเพื่อการชดใช้ค่าเสียหาย (Claim mediation) ซึ่งสามารถเป็นการเบี่ยงเบนคดีได้โดยสภาพ และถือเอาการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายเป็นหลักสำคัญ โดยมุ่งเน้นประการเดียวที่ให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย และใช้ในทุกประเภทความผิด โครงการนี้อาจจะมีการใช้ในชั้นตำรวจ หรือในชั้นอัยการก็ได้ โดยหากใช้ในชั้นตำรวจจะมีข้อจำกัดว่าค่าสินไหมทดแทนที่จะมีการไกล่เกลี่ยให้ชดใช้จะต้องไม่เกินวงเงิน 1,500 NLG หากการไกล่เกลี่ยในโครงการนี้ประสบผลสำเร็จในคดีเล็กๆน้อยๆ และมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้วก็จะมีผลนำไปสู่การยุติการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดนั้น แต่หากเป็นในคดีความผิดร้ายแรงก็จะมีผลในทางบรรเทาโทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับ
(3) โครงการการไกล่เกลี่ยเพื่อสมานฉันท์ (Restorative Mediation) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยใช้ภายหลังคำพิพากษาลงโทษแล้ว โดยเป็นการจัดประชุมระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด และใช้เฉพาะคดีความผิดร้ายแรง เช่น ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาหรือข่มขืนกระทำชำเรา
2. ประเทศสเปน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศสเปนนั้นมีใช้อยู่ เช่น ในแคว้นแคตาเนีย (Catalonia) ซึ่งเป็นเขตการปกครองตนเองแห่งเดียวของประเทศสเปนที่มีอำนาจเต็มในการกำหนดและดำเนินการในเรื่องการตัดสินใจทางนโยบายคดีอาญาทั้งในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ใหญ่และคดีผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน ในขณะที่แคว้นอื่นๆที่เป็นเขตการปกครองตนเองนั้นมีอำนาจดังกล่าวเฉพาะในคดีผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน ดังนี้
1) กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ใหญ่ ประมวลกฎหมายอาญาของสเปน (ที่แก้ไขใหม่ ปี ค.ศ. 1996) ได้ให้อำนาจแก่ศาลในการสั่งให้รอการลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญาและในประมวลกฎหมายอาญายังได้กำหนดให้ศาลอาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำงานบริการสังคมโดยความยินยอมของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการทางเลือกที่ใช้แทนการจำคุกในวันสุดสัปดาห์ ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน หรือแทนโทษปรับ ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 12 เดือนในระบบค่าปรับตามรายได้ต่อวัน กำหนดระยะเวลารอการลงโทษจำคุกโดยทั่วไปมีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ผู้กระทำความผิดนั้นอาจถูกกำหนดให้ต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมหรือรับการบำบัดรักษาหรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ในกรณีที่มีการแก้ไขความเสียหายนั้นเรียบร้อยก่อนที่ศาลจะเริ่มการพิจารณาคดี ศาลอาจนำมาเป็นข้อพิจารณาลดโทษที่จะลงแก่ผู้นั้น
2) กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน กฎหมาย Law 4/92 Regulating Jurisdiction and Trial in the Juvenile Court แก้ไขโดย Law 5/2000 Regulating the Penal Responsibility of Juveniles ได้กำหนดให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เป็นไปได้ 2 อย่าง คือ
(1) การเบี่ยงคดีในผลกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวน กล่าวคือ หากผู้กระทำความผิดได้แก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นแล้วหรือพร้อมที่จะดำเนินการเช่นนั้น ในมาตรา 2 ข้อ 6 (a) ได้กำหนดให้พนักงานอัยการอาจชะลอการฟ้องได้
(2) มาตรา 3 ศาลอาจสั่งเลื่อนการลงโทษไว้ก่อนในระหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตกลงที่จะแก้ไขเยียวยาความเสียหายนั้น มีหลักเกณฑ์วิธีพิจารณาที่เป็นไปตามขั้นตอน คือ การประชุมกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อที่จะหาข้อยุติมาเสนอต่อศาลเกี่ยวกับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายหรือปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำในกรณีที่มีการตกลงกันได้ดังกล่าว การปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เมื่อมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นเรียบร้อยแล้ว ผู้มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยก็จะรายงานต่อศาล ซึ่งศาลก็จะตัดสินคดีนั้นต่อไป แม้แต่ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ต้องการไกล่เกลี่ยด้วย ศาลก็ยังคงมีอำนาจเอาความตั้งใจของผู้กระทำความผิดที่จะแก้ไขเยียวยาความเสียหายนั้นมาประกอบการพิจารณาและสั่งให้ผู้กระทำความผิดแก้ไขเยียวยาความเสียหายนั้นได้
3. ประเทศออสเตรีย กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวนของประเทศออสเตรียนั้น ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 การไกล่เกลี่ยกันระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดในคดีอาญา ในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชนนั้น สามารถกระทำได้ตาม The Juvenile Justice Act 1988 ,article 7,8 และในกรณีคดีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ใหญ่ นั้นสามารถกระทำได้ตาม The Penal Code, article 42 ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกรณีเยาวชนหรือกรณีผู้ใหญ่ต่างสามารถไกล่เกลี่ยกันกับผู้เสียหายได้ตามกฎหมาย The Criminal Procedure Law, article 90 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย The Criminal Procedure Law Amendment Act 1999 ดังนี้
The Penal Code, article 167 ได้ระบุรายการฐานความผิดซึ่งกำหนดว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อไปไม่ได้ หากว่าผู้กระทำความผิดได้แก้ไขความเสียหายจนกลับคืนดีแล้ว ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การเบี่ยงเบนคดี ซึ่งอยู่ในอำนาจการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ ในกรณีดังกล่าวพนักงานอัยการต้องยุติการดำเนินคดีหากว่าอัตราโทษสำหรับความผิดนั้นเป็นเพียงโทษปรับหรือจำคุกน้อยกว่า 5 ปี หรือจำคุกน้อยกว่า 10 ปี สำหรับเยาวชน แต่จะไม่ใช้กับกรณีที่ผู้เสียหายถูกผู้กระทำความผิดกระทำจนถึงแก่ความตาย หลักเกณฑ์การเบี่ยงเบนคดีนี้ ไม่มีการกำหนดมาตรการพิเศษสำหรับป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ พนักงานอัยการสามารถที่จะพิจารณาใช้มาตรการเบี่ยงคดีภายใต้เงื่อนไขว่าผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนนั้นตกลงยินยอมด้วย ในกรณีเช่นนี้ พนักงานอัยการอาจกำหนดให้ผู้กระทำความผิดทำงานบริการสังคม ซึ่งผู้เสียหายอาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตกลงนั้นด้วยหากสมัครใจ
แต่ถ้าพนักงานอัยการไม่ใช้มาตรการเบี่ยงคดีดังกล่าว ศาลโดยดุลยพินิจของศาลเองหรือโดยการร้องขอของผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิด อาจจัดให้มีการแก้ไขข้อพิพาทนั้นได้ ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องได้รับโอกาสที่จะเสนอความเห็นต่อศาล และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ใหญ่ จะต้องมีการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้เสียหายด้วย นอกจากนี้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนและการเจรจาไกล่เกลี่ยกันนั้น ควรมีการนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการบรรเทาโทษในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษนั้นด้วย อีกทั้งอาจเป็นเงื่อนไขสำหรับการคุมประพฤติหรือพักการลงโทษนั้นด้วย และที่สำคัญผู้ที่จะเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยนั้นต้องมีคุณสมบัติในวิชาชีพทางสังคม กฎหมายหรือจิตวิทยา
4. ประเทศเบลเยี่ยม กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวนของประเทศเบลเยี่ยมได้วางหลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยเกี่ยวข้องกัน 2 กรณี คือ
1) ในไกล่เกลี่ยกรณีผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน ศาลระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนนั้น อนุญาตให้กระทำได้โดยผลทางอ้อมจาก The Juvenile Justice Act 1965 ต่อมามีกฎหมายที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. 1995 ให้อำนาจแก่ศาลในการออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดไปเข้ารายการ “อบรมทางการศึกษาหรือทางคุณธรรม” โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานทางสังคม การไกล่เกลี่ยอาจจะเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ อย่างไรก็ตามไม่มีบทบัญญัติที่ชัดแจ้งรองรับการไกล่เกลี่ยมีผลอย่างการเบี่ยงเบนคดี เพียงแต่พนักงานอัยการอาจใช้ดุจพินิจในสั่งไม่ฟ้องคดีเป็นการเบี่ยงเบนคดี
2) ในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ใหญ่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ The Code of Criminal Procedure, article 216 ซึ่งมีการตราพระราชกฤษฎีกามารองรับในปี ค.ศ. 1994 และมีการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี ค.ศ. 1994 และปี ค.ศ. 1999 ไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะเจาะจงกำหนดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือไกล่เกลี่ยในชั้นตำรวจ ทั้งสองกรณีอยู่ในดุลพินิจของอัยการ
(1) การไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นอัยการ ในลักษณะที่เป็นเงื่อนไขของการยุติการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหาย เข้ารับการฝึกอบรมหรือบำบัดรักษา หรือทำงานบริการสังคม ในส่วนของ “แบบอย่างกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” นั้นมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การชดใช้ความเสียหายทั้งในทางวัตถุและทางศีลธรรมแก่ผู้เสียหายและสังคม ผู้กระทำความผิดต้องยอมรับอย่างเป็นทางการในความรับผิดชอบที่มีต่อการกระทำความผิดตนของนั้น จึงจะใช้มาตรการการไกล่เกลี่ยได้ การเบี่ยงเบนคดีเป็นไปได้ในความผิดทุกประเภท หากว่าพนักงานอัยการพิจารณาเห็นว่าความผิดนั้นอาจมีการลงโทษได้ถึงขั้นจำคุกเกินกว่า 2 ปี แต่การไกล่เกลี่ยจะไม่สามารถกระทำได้หากว่าคดีนั้นได้มีหมายเรียกไปยังผู้ต้องหาแล้ว เพื่อให้มาปรากฏตัวต่อศาลหรือได้มีการคุมขังผู้นั้นแล้ว
(2) การไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นตำรวจจะใช้ในกรณีความผิดเล็กๆน้อยๆที่กระทำต่อทรัพย์สินและที่กระทำต่อบุคคล และสามารถคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงินตามจำนวนที่แน่นอนได้ โดยมีวัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ย คือ เพื่อให้มีการชดใช้เยียวยาทางวัตถุหรือทางการเงินโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามการไกล่เกลี่ยในทุกคดีต้องกระทำโดยนักไกล่เกลี่ยมืออาชีพ โดยเฉพาะจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางสังคม
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของประเทศเบลเยี่ยม มอบอำนาจให้พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการยุติธรรมดังกล่าวได้ ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะนำมาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อการบัญญัติกฎหมายในเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของประเทศไทยได้
5. ประเทศฝรั่งเศส นักกฎหมายฝรั่งเศสได้เริ่มนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวนมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 แล้ว ทั้งนี้เพราะระบบกฎหมายฝรั่งเศสเปิดช่องให้กระทำเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของการประนอมข้อพิพาททางอาญาก็ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายใดในระบบกฎหมายฝรั่งเศสเลย เป็นแต่เพียงกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัติเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของการประนอมข้อพิพาททางอาญาในฝรั่งเศสนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายการลงโทษทางอาญาของรัฐ ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 นโยบายทางอาญามีความเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับแนวความคิดของฝ่ายซ้ายในรัฐสภานำไปสู่การจัดตั้ง Bureau de la Protection des Victimes et de la Prévention (Office for the Protection of Victims and Prevention) หรือ สำนักงานคุ้มครองและป้องกันผู้เสียหาย ในปี ค.ศ.1982 หน่วยงานนี้อยู่ภายใต้ Direction des Affaires Criminelles et des Grâces (Directorate for Criminal Affairs and Pardons) ซึ่งมีภาระหน้าที่รับผิดชอบนโยบายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและการประนอมข้อพิพาททางอาญา หน่วยงานของรัฐอื่นๆ จึงได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว และจำเป็นต้องแสวงหาขอบเขตที่ชัดเจนของเรื่องดังกล่าว
ในปี ค.ศ.1984 ได้มีการเริ่มนำการประนอมข้อพิพาททางอาญามาใช้เป็นครั้งแรกในเมือง Valence โดยความร่วมมือของสมาคมทนายความของชุมชนท้องถิ่นและสมาคมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย แต่เนื่องจากขาดบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ จึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการเลือกประเภทความผิดที่จะนำการประนอมข้อพิพาทมาใช้ ต่อมา ในปี ค.ศ.1992 ได้มีการจัดตั้ง General Assembly of Mediation โดยความร่วมมือของ INAVEM (National Institute of Victim Assistance and Mediation) และ AIV (Assistance and Information to Victims) หลังจากนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้รับรองสถานะของการประนอมข้อพิพาททางอาญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการออกหนังสือเวียนในเดือนตุลาคม ค.ศ.1992 และตราเป็นกฎหมายเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1993
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาททางอาญาได้ตราขึ้นใช้เป็นกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 1993 โดยรัฐบัญญัติฉบับที่ 93-2 ลงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1993 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 วรรค 7 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส ซึ่งบัญญัติว่า “ก่อนฟ้องคดี หัวหน้าอัยการประจำศาลชั้นต้น (le procureur de la République) อาจสั่งให้มีการไกล่เกลี่ยทางอาญาได้หากผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดยินยอม และหัวหน้าอัยการประจำศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการไกล่เกลี่ยทางอาญาจะเป็นหลักประกันการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย ทำให้ข้อพิพาทอันเกิดจากการกระทำความผิดสิ้นสุดลง และจะมีส่วนช่วยในการที่ผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคม”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การใช้มาตรการประนอมข้อพิพาททางอาญา มีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
ประการแรก มาตรการประนอมข้อพิพาทต้องกระทำก่อนการฟ้อคดีอาญา การประนอมข้อพิพาททางอาญาจะต้องกระทำก่อนการฟ้องคดีอาญา หากได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินการประนอมข้อพิพาททางอาญาได้ หลักเกณฑ์ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า การประนอมข้อพิพาททางอาญาเป็นมาตรการเบี่ยงเบนจากการฟ้องคดี และมีส่วนช่วยลดประมาณคดีขึ้นสู่ศาลด้วย
เมื่อพนักงานอัยการใช้ดุลพินิจให้มีการประนอมข้อพิพาททางอาญาแล้ว พนักงานอัยการอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) เอง ซึ่งเรียกว่า “การไกล่เกลี่ยโดยตรง” (Direct mediation) หรือมอบหมายหน้าที่ให้องค์กรทางสังคมทำหน้าที่แทน ซึ่งเรียกว่า “การไกล่เกลี่ยโดยผู้แทน” (Reconciliation representative) ก็ได้
ในทางปฏิบัติ พนักงานอัยการจะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเอง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งในเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระของพนักงานอัยการในการดำเนินคดี หลังจากที่ได้มีการประนอมข้อพิพาทแล้ว หากผู้ต้องหากระทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับพนักงานอัยการ พนักงานอัยการจะต้องดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดนั้นต่อศาลต่อไป
ประการที่สอง คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องยินยอมให้มีการใช้มาตรการประนอมข้อพิพาทหลักเกณฑ์ข้อนี้เป็นหัวใจของการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ กล่าวคือ มาตรการประนอมข้อพิพาททางอาญาเป็นทางเลือกของพนักงานอัยการในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งของคู่กรณีและลดความรุนแรงของข้อพิพาทลงได้ โดยการจัดให้คู่กรณีเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างสันติและหลีกเลี่ยงการตัดสินแพ้ชนะ
มาตรการประนอมข้อพิพาทสามารถช่วยระงับความต้องการในการแก้แค้นของฝ่ายผู้เสียหายได้เมื่อผู้เสียหายได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น และยังช่วยให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสได้ทบทวนถึงการกระทำและพฤติกรรมของตนเองที่มีลักษณะต่อต้านสังคมด้วย นอกจากนี้ มาตรการประนอมข้อพิพาทยังช่วยหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมและสร้างตราบาปแก่กับผู้กระทำความผิดซึ่งไม่มีสันดานเป็นอาชญากร จึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ จึงนับว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดเล็กน้อย
ประการที่สาม อัยการจะต้องคำนึงถึงผลที่คู่กรณีจะได้รับจากการประนอมข้อพิพาททางอาญาด้วย แม้ว่าการใช้มาตรการไกล่เกลี่ยทางอาญาจะเกิดขึ้นภายใต้การใช้ดุลพินิจของอัยการแต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าว พนักงานอัยการก็ไม่สามารถกระทำได้ตามอำเภอใจ พนักงานอัยการจะต้องคำนึงถึงผลที่คู่กรณีจะได้รับตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 41 วรรค 7 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสด้วย หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 3 ประการ ได้แก่
(1) ผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิด ทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องไปดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายไม่ยอมรับข้อเสนอขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิด ก็แสดงว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้มีการประนอมข้อพิพาทกัน พนักงานอัยการก็ย่อมจะไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการประนอมข้อพิพาทได้ และจะต้องฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลต่อไป
(2) การประนอมข้อพิพาทจะต้องสามารถยุติปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความผิด หลักเกณฑ์ข้อนี้สอดคล้องกับหลักการทางอาชญาวิทยาทั่วไปที่ว่า มาตรการทางอาญาไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรือมาตรการอื่นจะต้องยุติปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดได้ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดจะต้องมีความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามสัดส่วนกับผลของการกระทำความผิดของตน
(3) การประนอมข้อพิพาทจะต้องมีส่วนช่วยให้ผู้กระทำความผิดกลับคืนเข้าสู่สังคมได้ โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดครั้งแรก ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับอาชญาวิทยาสมัยใหม่ที่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในการปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตนเพื่อกลับคืนสู่สังคมต่อไป
หลักเกณฑ์ทั้งสามประการนี้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับหลักเกณฑ์การรอการลงโทษและรอการกำหนดโทษจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส มาตรา 132-59 และมาตรา 132-60
ต่อมาในปี ค.ศ.1999 ได้มีการยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 41 วรรค 7 แล้วบัญญัติมาตรการประนอมข้อพิพาทไว้ในมาตรา 41-1 แทน โดยยังคงหลักการเดิมไว้ แต่ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ที่พนักงานอัยการจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่มีดังต่อไปนี้
(1) ต้องมีการเตือนผู้กระทำความผิดถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
(2) ต้องให้ผู้กระทำความผิดปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้อยู่ภายใต้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด
(3) ต้องให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของตนแก่ผู้เสียหาย
(4) จัดให้มีการประนอมข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่พนักงานอัยการได้กำหนดไว้ ให้อายุความสำหรับการฟ้องคดีสะดุดหยุดลงในระหว่างที่พนักงานอัยการเริ่มดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยทางอาญา จนกระทั่งระยะเวลาที่กำหนดหน้าที่ให้ผู้กระทำความผิดปฏิบัติสิ้นสุดลง
6. ประเทศเยอรมัน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศเยอรมนี เริ่มต้นขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่
1) ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมและการลงโทษทางอาญาในระบบปัจจุบันไม่ก่อให้เกิดผลในทางสร้างสรรค์ต่อผู้กระทำความผิดเลย โทษจำคุกนอกจากจะไม่ทำให้เกิดความหลาบจำแล้ว ยังก่อให้เกิดตราบาปต่อผู้กระทำความผิดด้วย แนวความคิดในการแสวงหาทางเลือกอื่นนอกจากการลงโทษทางอาญาจึงเริ่มต้นขึ้น มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในปี 1969-1975 ทำให้การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาได้รับการผ่อนปรนลงมามาก โทษปรับได้กลายมาเป็นมาตรการสำคัญในการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ การรอลงอาญาถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12
2) ผลประโยชน์ของผู้เสียหายหรือเหยื่อ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เหยื่อหรือผู้เสียหายถูกมองว่าเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งของฝ่ายโจทก์เท่านั้น ไม่มีการคำนึงถึงผลประโยชน์หรือความเสียหายที่เขาได้รับ สิทธิของผู้เสียหายถูกมองว่าเป็นเรื่องในทางทฤษฎีเท่านั้น โดยที่กฎหมายอาญาไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้เลย
3) ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระดับระหว่างประเทศทำให้การประนอมข้อพิพาททางอาญาได้รับความสำคัญมากขึ้น การไกล่เกลี่ยหรือการประนอมข้อพิพาททางอาญาได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมต่างๆ ทำให้แนวความคิดที่ว่าการไกล่เกลี่ยหรือการประนอมข้อพิพาทนี้ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นหลักนั้น ได้รับความสนใจมากขึ้นในการระงับข้อพิพาท
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1984 เมื่อนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา นักสังคมสงเคราะห์ และอัยการ ได้ให้การสนับสนุนที่จะนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติ ทั้งได้มีการริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กในปี ค.ศ.1985-1987 ในเมือง Braunschweig, Reuilingen, Köln และ München
ต่อมาในปี ค.ศ.1984-1987 โครงการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทสำหรับผู้ใหญ่จึงได้เริ่มต้นขึ้นที่ Tübingen, Hamburg และ Düsseldorf โดยมุ่งเน้นที่ความผิดที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง มิใช่ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือความผิดลหุโทษซึ่งเหมาะสมกับมาตรการเบี่ยงเบนคดี (diversion) มากกว่า ส่วนความผิดที่ปราศจากผู้เสียหายเป็นส่วนตัว (personal victims) เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ในร้านขายของ ความผิดฐานตามกฎหมายจราจร ฯลฯ ก็ไม่ถูกนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของโครงการที่ใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่นำมาใช้กับความผิดอุกฉกรรจ์ (felony)
กระแสเรียกร้องให้มีการเยียวยาและปกป้องสิทธิของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมบรรลุผลเมื่อมีการตรา Victims’ Protection Act ในปี ค.ศ.1986 กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ซึ่งมีใจความว่า “ในการลงโทษจำเลยนั้น ให้คำนึงถึงความประพฤติของจำเลยภายหลังที่ได้กระทำความผิดและความพยายามของจำเลยในการที่จะแก้ไขเยียวยาความผิดที่ตนได้กระทำลงไปด้วย”
บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพอพาทคดีอาญาในระบบกฎหมายเยอรมันนั้น ได้บัญญัติไว้ทั้งในประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงคู่มือปฏิบัติต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน (StGB)
ในปี ค.ศ.1994 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มเติมมาตรา 46a ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา 46a บัญญัติว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด โดยการจ่ายเงินชดเชย
หากผู้กระทำความผิด
1. ได้ทำหรือพยายามทำอย่างเต็มที่ให้ความเสียหายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดที่เขาได้กระทำไป ให้กลับคืนดีดังเดิม โดยการพยายามเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยหรือการประนอมข้อพิพาท หรือ
2. ได้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนหรือเกือบเต็มจำนวน
ศาลอาจลดโทษลงได้ตามมาตรา 49 I หรือยกเว้นโทษนั้นเสียในกรณีที่เป็นโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือในกรณีที่ค่าปรับไม่เกิน 300 มาร์ค หรือวันละ 60 มาร์ค”
บทบัญญัติมาตรานี้มีขอบเขตในการปรับใช้กว้างขวางมาก การยกเว้นโทษตามมาตรานี้สามารถนำไปใช้กับความผิดทุกประเภทโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อร้อยละ 95 ของโทษอาญาในเยอรมนีก็เป็นโทษปรับ และโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ในส่วนของการลดโทษก็สามารถนำไปใช้กับความผิดทุกประเภท แม้แต่ความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคลก็สามารถเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรานี้ได้โดยผ่านทางผู้แทนของนิติบุคคล นอกจากนี้ กระบวนการนี้จะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายในทางนามธรรม (abstract interests) หรือคุณธรรมทางกฎหมาย (Rechtgut) ยกตัวอย่างเช่น ในความผิดฐานฉ้อโกงหรือทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหายในทางนามธรรม เช่น ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลงในกรณีที่หน่วยงานราชการกระทำการที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
สำหรับความผิดที่ไม่มีผู้เสียหาย เช่น ความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา หรือความผิดเกี่ยวกับการจราจรในเรื่องอื่นๆ ฯลฯ นั้น การประนอมข้อพิพาทจะมีได้ก็แต่เพียงในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ (symbolic form) เท่านั้น และในความผิดตามกฎหมายภาษีอากรก็จะไม่นำกระบวนการนี้ไปใช้เช่นกัน
มาตรา 46a นี้ไม่เรียกร้องให้ผู้ไกล่เกลี่ยเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ ทั้งไม่มีกฎเกณฑ์ในทางวิธีพิจารณาความว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ไกล่เกลี่ยมีบทบาทอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยมาก เพราะเมื่อมีการใช้ระบบประนอมข้อพิพาท นักกฎหมายส่วนใหญ่มักจะนำมาตรา 153 และ 153a แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาปรับใช้ แม้ว่าจะมีปัญหาในทางกฎหมายก็ตาม
(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมัน (StPO)ในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น แนวคิดเกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาทถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในมาตรา 153 และมาตรา 153a ที่ให้ดุลพินิจแก่อัยการในการระงับคดีอาญาอย่างไม่เป็นทางการ (informal dismissal) ในกรณีความผิดเล็กน้อยหรือในกรณีที่ความชั่วของผู้กระทำความผิดมีไม่มาก
บทบัญญัติทั้งสองมาตราก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการประนอมข้อพิพาทในทางปฏิบัติ กล่าวคือ พนักงานอัยการสามารถสั่งให้มีการประนอมข้อพิพาทได้แม้ว่าการประนอมข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดจะได้เกิดขึ้นแล้วโดยสมัครใจ
(3) คู่มือการปฏิบัติ ในปี ค.ศ.1988 ได้มีการนำคู่มือใน
การปฏิบัติเพื่อการประนอมข้อพิพาททางอาญามาใช้กับทุกๆ มลรัฐในประเทศเยอรมนี แม้คู่มือนี้จะไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายใดๆ แต่อัยการก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในคู่มือดังกล่าว
แต่ภายหลังปี ค.ศ.1994 เมื่อมาตรา 46a แห่งประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันมีผลใช้บังคับ คู่มือดังกล่าวก็แตกต่างกันไปตามแต่ละมลรัฐ คู่มือนี้วางกฎเกณฑ์ในการใช้กระบวนการประนอมข้อพิพาท เช่น ความสมัครใจของคู่กรณี วิธีการที่ใช้กับผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งในทางปฏิบัติพนักงานอัยการจะต้องปฏิบัติตามคู่มือนี้
สำหรับนโยบายและการบังคับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมของประเทศเยอรมนีได้สนับสนุนการใช้กระบวนการประนอมข้อพิพาททางอาญามาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีโครงการศึกษาเกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาททางอาญา โครงการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้การประนอมข้อพิพาทในความผิดที่เด็กเป็นผู้กระทำนั้นได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย จนนำไปสู่การบัญญัติมาตรา 46a แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่คำนึงถึงผู้เสียหายและประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผู้กระทำความผิดให้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้กระทำและพยายามทำให้กลับคืนดีดังเดิม
อย่างไรก็ตาม การนำกระบวนการดังกล่าวนี้ไปใช้กลับมีไม่มากนัก ทั้งๆที่กฎหมายก็ส่งเสริมให้อัยการและศาลเลือกใช้กระบวนการประนอมข้อพิพาท โดยการบัญญัติมาตรา 155a และ 155b แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มารองรับแล้วก็ตาม
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อการประนอมข้อพิพาททางอาญานั้นพบว่าอัยการเห็นว่าการประนอมข้อพิพาทนั้นเป็นกลไกที่แปลกปลอมไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามปกติ ส่วนศาลยังคงสงวนท่าทีของตนต่อเรื่องดังกล่าวคำพิพากษาบางฉบับแสดงให้เห็นได้ว่าศาลไม่ได้ให้ความสนใจในมาตรา 46a ประมวลกฎหมายอาญา หรือความสำเร็จของโครงการประนอมข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 75 ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการประนอมข้อพิพาทเสนอเข้ามาโดยพนักงานอัยการ โดยส่วนมากเข้ามาในขั้นตอนของการสอบสวน เมื่อทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดยินยอม พนักงานอัยการจะจัดให้มีการพบกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายภายใต้การดูแลของผู้ไกล่เกลี่ย คู่กรณีสามารถตกลงกันจนกระทั่งผู้เสียหายพอใจ ถ้าผู้กระทำความผิดทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ในทันที พนักงานอัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องคดี
7. ประเทศญี่ปุ่น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศญี่ปุ่น เจ้าพนักงานที่มีอำนาจในการสอบสวน คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ต้องทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้นและเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวนความผิดอาญาใดต้องส่งคดีพร้อมด้วยเอกสารและพยานวัตถุไปยังพนักงานอัยการโดยเร็ว เว้นแต่คดีที่อัยการกำหนดให้เป็นอย่างอื่น อำนาจการฟ้องคดีอาญาเป็นของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ แม้คดีจะมีพยานหลักฐานว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิด แต่ถ้าพนักงานอัยการได้พิจาณาอุปนิสัย สภาวะแห่งจิตใจ สถานการณ์แวดล้อมและความร้ายแรงแห่งข้อหา ตลอดจนสภาพการณ์ภายหลังการกระทำความผิดแล้ว เห็นว่าไม่เป็นการสมควรหรือไม่มีความจำเป็นจะต้องฟ้องร้องผู้กระทำความผิด อัยการอาจสั่งไม่ฟ้องหรืออาจยับยั้งชะลอการฟ้องไว้โดยมีกำหนดระยะเวลาภายใต้การควบคุมประพฤติโดยพนักงานคุมประพฤติ
การชะลอการฟ้องนั้นเป็นการไม่ฟ้องชนิดหนึ่ง การชะลอการฟ้อง คือ การแขวนหรือหยุดการฟ้องเอาไว้ โดยพนักงานอัยการได้มอบอำนาจชะลอการฟ้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยไม่ต้องเสนอสำนวนต่อพนักงานอัยการได้ ตามที่กฎหมายกำหนดให้วิธีพิจารณาคดีอาญาญี่ปุ่น มาตรา 246 คือ คดีที่พนักงานอัยการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งหมายถึง “มาตรการความผิดเล็กน้อย” และให้รวมไปถึงคดีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำความผิด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามรถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คดีอาญาในชั้นตำรวจได้นั้นต้องเป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดเล็กน้อย ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากพนักงานอัยการโดยตรงเท่านั้น
มาตรการความผิดเล็กน้อยที่พนักงานอัยการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา ดังนี้
(1) ในคดีความผิดฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก ที่จำนวนความเสียเล็กน้อย สภาพความผิดเล็กน้อย มีการชดใช้ความเสียหายให้ ผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้ลงโทษและไม่มีเหตุให้เกรงว่าจะมีการกระทำความผิดขึ้นอีก
(2) คดีการพนันที่มุ่งทรัพย์สินเล็กน้อยมาก ซึ่งมีสภาพความผิดเล็กน้อย รวมทั้งไม่มีเหตุให้เกรงว่าผู้ร่วมกันกระทำความผิดจะมากระทำความความผิดซ้ำอีก
(3) คดีอื่นๆซึ่งอัยการจังหวัดระบุ
กรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนดำเนินการดังนี้
(1) ตักเตือนผู้กระทำความผิดให้ระวังอนาคตของตนเอง
(2) เรียกผู้ปกครอง นายจ้าง บุคคลที่อยู่ในฐานะควบคุมดูแล หรือตัวแทนและทำหนังสือว่าจะควบคุมดูแลอนาคตผู้กระทำความผิด โดยตักเตือนผู้กระทำความผิดในเรื่องที่สำคัญ
(3) ให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือขอโทษผู้เสียหายหรือกระทำการอื่นที่เหมาะสม
กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ต้องส่งคดีให้พนักงานอัยการ เพียงแต่ในทุกเดือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกกันในเอกสารที่เรียกว่า “การจัดการคดีความผิดเล็กน้อย” ซึ่งต้องมีมูลเรื่อง วันเดือน ปี ที่จัดการ ชื่อผู้กระทำความผิด ประเด็นสำคัญในคดี เพื่อเป็นการตรวจสอบและควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมายจากพนักงานอัยการอีกครั้งหนึ่งโดยพนักงานอัยการ
2.1 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวนของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ได้แก่ ประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ ดังนี้
1. ประเทศแคนาดา กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศแคนาดา มีกฎหมายรองรับอยู่ 2 ฉบับ คือ The Criminal Code และ The Young Offenders Act 1984 ดังนี้
(1) The Criminal Code ได้บัญญัติรับรองกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน ภายหลังการกระทำความผิดเกิดขึ้น กฎหมายให้อำนาจแก่ตำรวจและพนักงานอัยการมีทางเลือกที่จะเสนอคดีในขั้นตอนก่อนการยื่นฟ้องศาลต่อโครงการเบี่ยงเบนคดี หรือตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ โดยอาศัยกฎหมายอาญามาตรา 717 ถ้าผู้กระทำความผิดมีคุณสมบัติเหมาะสม ก็ให้ดำเนินการส่งคดีเข้าร่วมโครงการ โดยมีผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการ คือ อัยการสูงสุดหรือผู้แทนที่มอบหมาย ผู้ที่รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ โดยการดำเนินการนี้จะต้องได้รับการแนะนำรายละเอียดของมาตรการ และต้องยินยอมเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ซึ่งก่อนให้ความยินยอมต้องได้รับการชี้แจงสิทธิของตน
(2) The Young Offenders Act 1984 ได้กำหนดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สำหรับเยาวชน คือ อัยการสูงสุดหรือผู้ที่รับมอบหาย ผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดนั้น ในการดำเนินการนั้นผู้ดำเนินการจะต้องกำหนดมาตรการให้เหมาะสมและเป็นที่พอใจได้ว่าจะได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เยาวชนผู้เข้าร่วมตามมาตรการนี้จะต้องรู้สึกผิดและยอมรับผิดชอบในการกระทำของตน จึงได้ยินยอมเข้าร่วมโดยสมัครใจ โดยก่อนการตัดสินใจจะต้องได้รับการชี้แจงรายละเอียดของโครงการและต้องได้รับการแจ้งสิทธิที่มีอยู่ มาตรการนี้นี้จะไม่ถูกนำมาใช้หากผู้กระทำความผิดไม่ยอมรับปฏิเสธการกระทำของตน
ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มต้นจากการที่ตำรวจและพนักงานอัยการจะส่งคดีให้คณะกรรมการชุมชนใช้มาตรการทางเลือกที่จะรับข้อพิพาทด้วยการประชุมไกล่เกลี่ย ซึ่งจะดำเนินการโดยอาสาสมัครและผู้ที่เข้าร่วมการประชุม คือ การกระทำความผิดและครอบครัว อาสาสมัคร ผู้ทำการไกล่เกลี่ย จำนวน 2 คน แต่สำหรับในคดีบางคดีเหยื่อและผู้ปกครองก็จะเข้ามาในคดีด้วย การดำเนินการตามมาตรการทางเลือกตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งกับการดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม หากภายหลังปรากฏว่าผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ศาลเยาวชนยกฟ้องในข้อหาดังกล่าว
ซึ่งในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาททางอาญาในประเทศแคนาดาได้มีการกำหนดไว้โดยรัฐบาลกลาง เพียงว่าสามารถนำมาใช้กับความผิดเล็กน้อยหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามรัฐโนวาสโกเทีย ของประเทศแคนาดาได้กำหนดวิธีการกระบวนการยุติธรรมไปใช้ได้เองและในทางปฏิบัติรัฐโนวาสโกเทีย สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีความผิดรุนแรงได้ด้วย โดยได้ยึดเอาประเภทความผิดเป็นเกณฑ์ ซึ่งแบ่งประเภทความผิดเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) ความผิดระดับที่ 1 ได้แก่ ความผิดฐานที่อยู่ในเขตอำนาจของจังหวัด ความผิดฐานเตร็ดเตร่คนจรจัด ความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่เป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
(2) ความผิดระดับที่ 2 ได้แก่ ความผิดฐานอื่นที่ไม่ใช่ความผิดระดับ 3 และความผิดระดับ 4
(3) ความผิดระดับที่ 3 ได้แก่ความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกซึ่งทรัพย์มีมูลค่าไม่เกิน 20,000 ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ความผิดทางเพศ ความผิดฐานลักพาตัว กักขัง ความผิดเกี่ยวกับครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว
(4) ความผิดระดับที่ 4 ได้แก่ ความผิดทางเพศ ความผิดฐานฆาตกรรม
ขั้นตอนการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของรัฐโนวาสโกเทีย เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ได้เสนอต่อคณะกรรมการชุมชนได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ยุติลง ซึ่งมี 4 ขั้นตอนดังนี้
(1) ขั้นตอนก่อนฟ้องคดี สามารถกระทำได้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พบการกระทำความผิด ระดับที่ 1 และระดับที่ 2 สามารถใช้ดุลพินิจเสนอเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการในขั้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต้องเป็นการกระทำในกรณีที่มีได้ตั้งข้อหาความผิด หากมีการตั้งข้อหาแล้วและเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าควรใช้มาตรการทางเลือก ก็สามารถดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป
(2) ขั้นตอนภายหลังการยื่นฟ้อง เป็นมาตรการที่สามารถกระทำได้โดยพนักงานอัยการ โดยภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาและส่งคดีมาแล้วสำหรับความผิดระดับที่ 1 และระดับที่ 2 พนักงานอัยการสามารถเลือกที่จะเสนอคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
(3) ขั้นตอนก่อนมีคำพิพากษา เป็นการดำเนินการของผู้พิพากษาขณะที่คดีอยู่ระหว่างรอการพิพากษา ซึ่งโดยปกติในคดีที่มีความรุนแรงมากจะใช้วิธีการดำเนินคดีในศาลและมักตัดสินคดีโดยศาล แต่ในคดีที่มีความรุนแรงไม่มากนัก ศาลมักจะส่งคดีตามความเห็นของศาลเองหรือความเห็นของพนักงานอัยการให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยศาลจะเลื่อนการพิจารณาออกไป
(4) ขั้นตอนระหว่างรับโทษ เป็นขั้นตอนการเสนอคดีเข้าสู่การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย สำหรับความผิดระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 ระดับ 4 เพื่อเยียวยาความเสียหายของเหยื่อ ผู้กระทำความผิด ชุมชน ระหว่างผู้กระทำความผิดได้รับโทษอยู่
2) ประเทศสหรัฐอเมริกา กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เจ้าหน้าที่ในองค์กรกระบวนการยุติธรรม ต่างมีการใช้อำนาจหน้าที่ตามกรอบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เรียกว่า “ดุลพินิจ” (Discretion) ซึ่งเป็นอำนาจที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อประสิทธิของกระบวนการยุติธรรม ในการแสวงหารูปแบบกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดทั้งในชั้นตำรวจ ในชั้นอัยการและในชั้นศาล ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการหรือในองค์กรศาสนาหรือองค์กรในชุมชนซึ่งไม่ได้แสวงหากำไร
ในสหรัฐอเมริกาได้แบ่งประเภทความผิดอาญาตามความร้ายแรงตามอาชญากรรม ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
(1) ความผิดประเภท Felonies คือ ความผิดอาญาที่มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกในเรือนจำของรัฐเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป บางรัฐอาจกำหนดเกินกว่า 2 ปี เช่น รัฐCarolina แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต ความผิดต้องระวางโทษตลอดชีวิต ความผิดต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี ขึ้นไปและความผิดต้องระวางโทษ 5 ปีขึ้นไป
(2) ความผิดประเภท Misdemeanors คือ ความผิดอาญาอื่นๆที่นอกเหนือจากความผิดประเภท Felonies ซึ่งในรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อาจแบ่งประเภท ได้แก่ ความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ความผิดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 30 วันและความผิดในคดีจราจร โดยกำหนดโทษปรับเพียงเล็กน้อยและไม่บันทึกประวัติผู้กระทำความผิด ซึ่งในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจไม่บังคับตามกฎหมายในสหรัฐอเมริกา พนักงานสอบสวนนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา เช่นคดีอาญาในคดีจราจร คดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน คดีความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ คดีคนเมาสุรา คดีความผิดภายในครอบครัว เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาให้อำนาจตำรวจไกล่เกลี่ยเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและจำนวนบุคลากรที่เพียงพอจะบังคับใช้กฎหมายได้ จนบางกรณีอาจจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นเมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมายได้ทุกคดี ตำรวจจึงตัดสินใจและพิจารณาว่าสิ่งใดควรใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา
ซึ่งสรุปได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาของสหรัฐอเมริกาเป็นรูปแบบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีสูงมาก โดยกันผู้กระทำความผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมเข้าสู่โครงการทางสังคมหรือชุมชน เพื่อการบำบัดรักษาฟื้นฟู การศึกษาอบรม หรือแก้ไขผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้ตามปกติสุข ซึ่งศึกษาจากแนวทางปฏิบัติของตำรวจในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ หลักสูตรโครงการกันคดีผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครอง การลักขโมยเล็กน้อย การค้าประเวณี และการกันผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนเข้าสู่โครงการทางสังคมหรือชุมชน แทนการสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนตามปกติ กล่าวคือ เมื่อจบหลักสูตรและปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ข้อหานั้นจะถูกยกเลิกและไม่มีประวัติบุคคล เป็นต้น
3) ประเทศออสเตรเลีย กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวนประเทศออสเตรเลียนั้นเกิดขึ้นในมลรัฐ New South Walesเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1991 ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองแวกก้า แวกก้า (Wagga Wagga) จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดสำหรับคดีเยาวชน ต่อมาได้มีการพัฒนามีบทบัญญัติ The Young Offenders Act 1993 ต่อมามลรัฐอื่นๆของออสเตรเลียก็มีโครงการจัดประชุมดังกล่าว โครงการจัดประชุมระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดได้แก่
(1) New South Wales จัดให้มีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนมีการจัดประชุมกระทำที่สถานีตำรวจและดำเนินการประชุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการเชิญผู้ช่วยเหลือผู้เสียหายมานร่วมในการประชุมด้วย ส่วนคดีเยาวชนการจัดประชุมในนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
(2) South Australia การจัดประชุมกลุ่มครอบครัวขึ้นมาใช้โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลเยาวชนและโดยการสนับสนุนให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการประชุมนั้น
(3) Australia Capital Territory โครงการประชุมกลุ่มเริ่มจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 โดยใช้กับความผิดประเภทต่างๆ ทั้งในกรณีคดีผู้ใหญ่และคดีเยาวชน โดยการจัดการและการสนับสนุนการประชุมกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
4) ประเทศนิวซีแลนด์ ในประเทศนิวซีแลนด์ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีในชั้นสอบสวน ทั้งในคดีเยาวชนและครอบครัวและในคดีผู้ใหญ่ ดังนี้
(1) ในคดีเยาวชนและครอบครัว โดยมีบทบัญญัติ The Children, Young Person and Their Families Act 1989 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึงหลักการการประชุมกลุ่มครอบครัว (The Family Group Conference) ซึ่งใช้ทั้งในกรณีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดและกรณีที่เยาวชนเป็นผู้เสียหาย
ซึ่งการประชุมกลุ่มครอบครัว (The Family Group Conference) ของนิวซีแลนด์มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสวัสดิการสังคม เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเด็กของหน่วยงานตำรวจ ผู้เสียหายจะมีผู้ให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาของการเข้าร่วมประชุมหรืออาจตั้งตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมแทนก็ได้ โดยผู้มีส่วนร่วมในการประชุมทุกคนจะมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการกระทำผิด และต่อจากนั้นทั้งผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด ผู้ช่วยเหลือในการประชุมนั้น ต่างจะได้กล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ตนเองนั้นในที่ประชุมได้รับฟัง และหาข้อสรุป ซึ่งจะนำไปสู่การที่ผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชนนั้นตกลงที่จะชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน
(2) ในคดีผู้ใหญ่ได้มีบทบัญญัติ The Criminal Justice Act 1985 ได้กำหนดให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้กลับคืนดีหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ส่วนขั้นตอนการดำเนินคดีนั้นการใช้มาตรการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์การระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน คือ ตำรวจกับอัยการ ของต่างประเทศโดยแยกพิจารณาตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ทั้งประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) กับระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ผู้เขียนจะศึกษาวิเคราะห์อยู่ 2 ประเด็น คือ การให้ ตำรวจ อัยการ ใช้ดุลพินิจ ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน กับกระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของต่างประเทศที่ควรจะนำมาปรัปใช้แก่ประเทศไทย ดังนี้
1.การให้ตำรวจ อัยการใช้ดุลพินิจกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน
เมื่อพิจรณาแล้วจะพบว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาที่มีใช้ในชั้นสอบสวนของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซิวิลลอว์ (Civil Law) หรือประเทศในภาคพื้นยุโรป คือ ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรีย ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศสเปน และประเทศเนเธอแลนด์ จะให้อำนาจพนักงานอัยการมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาเป็นหลัก แต่มีประเทศเบลเยี่ยม และประเทศเนเธอแลนด์ นั้นให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนร่วมใช้การกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาได้ ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และแคนาดา จะให้อำนาจเจ้าที่ตำรวจมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการใช้การกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการพิจารณาคดีอาญาในระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายระบบซิวิลลอว์ (Civil Law) หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ต่างให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน เพื่อเป็นการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล เป็นการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิดได้กลับคืนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขเช่นเดียวกัน
2. กระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของต่างประเทศที่ควรจะนำมาปรัปใช้แก่ประเทศไทย
เมื่อพิจารณาการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนของต่างประเทศไม่ว่าประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายระบบซิวิลลอว์ (Civil Law) หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ผู้เขียนเห็นว่าหลักการและแนวคิดของประเทศดังต่อไปนี้สามารถที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ คือ ประเทศออสเตรีย ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศญี่ปุ่น ประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย
ส่วนประเทศที่ไม่นำมาปรับกับประเทศไทย คือ ประเทศเนเธอแลนด์ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมัน และประเทศนิวซีแลนด์
บรรณานุกรม
หนังสือ วิจัย วิทยานิพนธ์และเอกสารวารสารภาษาไทย
คณิต ณ นคร, “อัยการเยอรมันและการดำเนินคดีอาญาของอัยการเยอรมันก่อนฟ้อง,” ใน
รวมบทความทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร, (กรุงเทพฯ :
ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิมพ์อักษร, 2540)
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : การปรับกระบวนทัศน์กระบวนการ
ยุติธรรม” (วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสหวิทยาการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548)
ชาติ ชัยเดช ในเอกสารประกอบการสัมมนา “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา
พ.ศ. ..... จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม
วันพุธ ที่ 20 พฤษภาคม 2552 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค
กรุงเทพมหานคร
ชัยวิวัฒน์ หิรัญวัฒนะ “บทบาทพนักงารสอบสวนในการกันคดี ไม่ให้เข้าสู่กระวนการยุติธรรม”
(วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,2545 )
ณภัทร กตเวทีเสถียร “การระงับข้อพิพาทในคดีอาญาโดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
(ศึกษาเฉพาะความผิดที่มีผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา)” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตร
มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2547)
ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง “งานอัยการของญี่ปุ่น” ในอัยการกับการสอบสวนคดีอาญา : รวมบทความ
เกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญาในนาประเทศ. (กรุงเทพ ฯ : ชุติมาการพิมพ์,2533)
สิทธิกร ศักดิ์แสง “ปัญหาการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับการระงับข้อพิพาทคดีอาญา
ในขั้นตอนก่อนฟ้อง” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2
มิถุนายน 2550
........................... “ศาสตร์แห่งการตีความกฎหมาย” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เดือนตุลา,2552
อิทธิ มุสิกะพงษ์ “การดำเนินคดีความผิดเล็กน้อย” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2534)
อุทัย อาทิเวช, ,“การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการกับการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลในประเทศ
ฝรั่งเศส (2),” วารสารยุติธรรม ฉบับที่ 1,ปีที่ 4 ,(ตุลาคม-พฤศจิกายน 2546)
หนังสือต่างประเทศ
David Miers, An International Review of Restorative Justice – Crime Reduction Research Series
Paper 10 (London : HMSO, 2000)
Larry K. Gaines, Michael Kaune and Roger Le Roy Miller.
Mireille Delmas-Marty (sous la direction), Procédures pénales d’Europe, (Thémis Droit privé.
Paris : PUF, 1995),
Sue titus Reid. Crime and Criminology. 6th ed. Florida : Holt, Rinehart and Winton.1991.
ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
www.canada.Justice.gc.ca/en/ps/voc/rjpap.thml
www.isuma.net/vo1no1/clairmeme.shtml
www.gov.ns.ca/jus/rj/rj-framwork.htm.
Search