ไนจีเรีย ประเทศที่ โชคดี และ โชคร้าย ในเวลาเดียวกัน /โดย ลงทุนแมน
ประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา
เราคงจะคิดว่า ดินแดนแห่งนี้คงจะเป็นดินแดนที่มีความมั่งคั่งและสงบสุขที่หนึ่งของโลก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม
เพราะประเทศที่เรากำลังพูดถึงนี้
มีทั้งสงคราม การประท้วง และเหตุจลาจล
เรากำลังพูดถึง ไนจีเรีย
ประเทศที่ “โชคดี” จากการมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
แต่กลับเป็นประเทศที่ “โชคร้าย” จากการมีสิ่งเหล่านั้น ในเวลาเดียวกัน
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไนจีเรีย เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา
เนื่องด้วยดินแดนทางทิศใต้ของไนจีเรียติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางหนึ่งของการค้าทาส เพื่อส่งข้ามมหาสมุทรไปใช้แรงงานยังทวีปอเมริกา
ไนจีเรีย ถูกอังกฤษเข้ายึดครองครั้งแรกตั้งแต่ปี 1851
ก่อนที่จะได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 1960
ปี 2019 ไนจีเรียมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของมูลค่า GDP ทั้งทวีป
ไนจีเรียมีประชากรมากถึง 207 ล้านคน มากที่สุดในบรรดาประเทศในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงาน และตลาดการบริโภคที่มีขนาดใหญ่
นอกจากนั้นแล้ว ไนจีเรียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อย่างมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ, ดีบุก, แร่เหล็ก, ถ่านหิน และที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำมันดิบ”
ปัจจุบันไนจีเรียมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบสูงถึง 36,972 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
และด้วยราคาน้ำมันดิบที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของไนจีเรียจะมีมูลค่าสูงถึง 47 ล้านล้านบาท
พอรู้แบบนี้แล้ว หลายคนน่าจะคิดว่า ไนจีเรียคงเป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีกำลังในการพัฒนาประเทศให้น่าอยู่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ตรงกับที่หลายคนคิด..
อุปสรรคในการพัฒนาไนจีเรียที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง สงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และการคอร์รัปชัน
นับตั้งแต่ปี 1960 ถึง 2012 มีการประเมินว่า ปัญหาคอร์รัปชันได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของไนจีเรียไม่ต่ำกว่า 12.4 ล้านล้านบาท
ปี 2019 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ทำการจัดอันดับประเทศจากดัชนีการคอร์รัปชันของภาครัฐ ผลปรากฏว่า ไนจีเรีย อยู่อันดับที่ 146 จากทั้งหมด 179 ประเทศ
โดยดัชนีที่ว่านี้ วัดจากกิจกรรมของภาครัฐที่มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น เช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรับสินบนจากบริษัทน้ำมันเพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าไปทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทรัพยากรที่มีค่าอย่างน้ำมันดิบ นำมาซึ่งปัญหามากมาย
ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่มีอยู่มาก ทำให้รัฐบาลไนจีเรียมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียว จนละเลยการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การบริหารจัดการรายได้จากการขายน้ำมันดิบของไนจีเรีย ทำได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้ไนจีเรียจะเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมาก และส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC)
แต่ไนจีเรียกลับต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นมูลค่ามหาศาล
รู้ไหมว่า ในช่วงปี 2015-2019 ไนจีเรียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเท่ากับ 6.4 ล้านล้านบาท
แต่กลับมีรายจ่ายที่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นมูลค่าสูงถึง 8.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเสียอีก
สาเหตุของเรื่องคือ รัฐบาลมีการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ และตั้งราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง เพื่อตรึงราคาน้ำมันให้ต่ำไว้เป็นระยะเวลายาวนาน
เรื่องนี้ทำให้ไม่มีภาคเอกชนรายไหนอยากจะลงทุนสร้างโรงกลั่นในไนจีเรีย เพราะกลั่นไปอย่างไรก็ถูกกดราคาโดยภาครัฐอยู่ดี
ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของภาครัฐก็ขาดเงินทุนในการซ่อมบำรุง เนื่องจากการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้งบประมาณที่ควรนำมาใช้ในเรื่องจำเป็น ตกไปอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
เมื่อโรงกลั่นในประเทศไม่สามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศแทน
พอรัฐบาลประกาศยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน ประชาชนจำนวนมากก็ไม่พอใจ และออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ซึ่งหลายครั้งได้นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงภายในประเทศ
นอกจากการบริหารทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลไนจีเรียยังขาดความสามารถในการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนในประเทศ
วันนี้ประชากรของไนจีเรียกว่า 83 ล้านคน หรือกว่า 40% ของประชากร มีฐานะยากจน
ประชาชนหลายคนในประเทศรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และตามมาด้วยปัญหาการก่อการร้ายที่เพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องราวของไนจีเรียดูเหมือนจะให้แง่คิดกับเราว่า
ไม่ว่าประเทศจะมีขุมทรัพย์ที่มีค่ามากแค่ไหน
แต่ถ้าบริหารจัดการได้ไม่ดี และผลประโยชน์จากทรัพยากรนั้นตกอยู่ที่คนเพียงส่วนน้อยของประเทศ
สุดท้ายแล้ว
ความโชคดีที่มีทรัพยากรอันล้ำค่า
ก็สามารถนำไปสู่ความโชคร้ายได้เหมือนกัน
เหมือนอย่างที่ไนจีเรียกำลังเจออยู่ตอนนี้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_proven_oil_reserves
-https://en.wikipedia.org/wiki/OPEC
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_African_countries_by_GDP_(nominal)
-https://toi.boi.go.th/information/worldwide/57
-https://en.wikipedia.org/wiki/Nigeria
-https://www.statista.com/statistics/1121438/poverty-headcount-rate-in-nigeria-by-state/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_in_Nigeria
-https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Perceptions_Index
-https://www.bbc.com/news/world-africa-35990319
「world poverty statistics 2019」的推薦目錄:
world poverty statistics 2019 在 ลงทุนแมน Facebook 的最佳貼文
ความบอบช้ำ อย่างต่อเนื่อง ของเศรษฐกิจอิตาลี /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2008 คืออะไร?
คำตอบที่นักลงทุนคิดถึงคงเป็น วิกฤติซับไพรม์ และการล่มสลายของ Lehman Brothers วาณิชธนกิจที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่รู้ไหมว่าปีนั้น
ยังเป็นปีที่มูลค่า GDP ของอิตาลีขึ้นไปถึง 74 ล้านล้านบาท
ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดตลอดกาลสำหรับมูลค่า GDP ของประเทศอิตาลี
แต่แล้วหลังจากนั้น อิตาลีก็ไม่เคยกลับมาที่จุดนั้นอีกเลย
นับจากวันนั้นมา 12 ปี มูลค่า GDP ของอิตาลี เฉลี่ยแล้วลดลงปีละ 1 ล้านล้านบาท
และดูเหมือนว่าปีนี้ก็จะแย่ลงไปอีกจาก Covid-19
เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของอิตาลีในช่วงที่ผ่านมา?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ในปี 2019 เศรษฐกิจอิตาลีมูลค่า GDP กว่า 62 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 8 ของโลก
และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในทวีปยุโรป
ขณะที่ประชากรของอิตาลีนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 1 ล้านบาทต่อปี อยู่อันดับที่ 26 ของโลก
เดิมทีนั้นอิตาลีเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี 1945 เศรษฐกิจของอิตาลีเริ่มเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรม มาสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน สัดส่วนภาคการเกษตรมีสัดส่วนเหลือเพียง 2% ขณะที่สัดส่วนนอกภาคเกษตร เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ มีสัดส่วนมากถึง 98%
อิตาลียังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก โดยประกอบไปด้วยประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศคือ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
รู้ไหมว่า อิตาลีนั้น ถือว่าเป็นผู้นำของโลกในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น
เป็นประเทศที่ผลิตไวน์ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก
เป็นประเทศที่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก
เป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองทองคำมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
เป็นประเทศผู้นำทางแฟชั่นของโลก และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
ในช่วงระหว่างปี 2000-2008 เศรษฐกิจของอิตาลีนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านล้านบาท มาถึง 74 ล้านล้านบาท
แต่การเติบโตในครั้งนั้น แลกมาด้วยการใช้จ่ายเงินมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล ซึ่งอิตาลีนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีงบประมาณขาดดุลยาวนานประเทศหนึ่งของโลก
ในช่วงปี 2000-2008 รัฐบาลอิตาลีใช้งบประมาณขาดดุลรวมกันสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ทำให้เฉลี่ยแล้วหนี้สาธารณะต่อ GDP ของอิตาลีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100%
และแล้ว 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอิตาลีหยุดชะงักลงกว่า 12 ปีก็เกิดขึ้น
ครั้งแรกในปี 2008 จากวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งอิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติดังกล่าว โดยในช่วงระหว่างปี 2008-2009 GDP ของอิตาลีติดลบไปทั้งหมด 7 ไตรมาส เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
หลังจากเจอกับผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ไม่นาน อิตาลีก็ต้องมาเจอกับแรงกระแทกครั้งที่สองที่ชื่อว่า วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2009
ปี 2011 ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถานะทางการเงินของอิตาลีตกต่ำอย่างหนัก ความน่าเชื่อถือของประเทศถูกลดอันดับลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของอิตาลี ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายถึง ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2015 หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศพุ่งขึ้นถึง 131% ต่อ GDP มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของยุโรป แม้จะเป็นรองกรีซที่ขณะนั้นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 180% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของอิตาลีนั้นใหญ่กว่ากรีซเกือบ 10 เท่า แน่นอนว่าผลกระทบจะรุนแรงกว่ากรณีของกรีซอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ จึงทำให้มูลค่า GDP ของอิตาลีจากที่เคยขึ้นไปถึง 74 ล้านล้านบาท ในปี 2008 ปัจจุบัน ลดลงมาเหลือเพียง 62 ล้านล้านบาท หรือลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
และมาวันนี้ผลกระทบจาก Covid-19
กำลังจะทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีที่ยังบอบช้ำอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก
ซึ่งก่อนที่ Covid-19 จะระบาดนั้น อิตาลีมีอัตราการว่างงานประมาณ 10% ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานมากที่สุดในกลุ่มยูโรโซน
มีการคาดกันว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ปี 2020 ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ มีแรงงานของอิตาลีกว่า 11.5 ล้านคนต้องตกงาน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ
ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วน 13% ของ GDP หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศที่หดหายไปในช่วงที่ผ่านมา
จึงทำให้คาดกันว่า ในปี 2020 GDP ของอิตาลีจะติดลบกว่า 9.5% ซึ่งนับเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอิตาลีครั้งรุนแรงอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของประเทศ
เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องประกาศใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อลดผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว
แต่เมื่อทำแบบนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย มีการคาดกันว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของอิตาลีพุ่งขึ้นไปถึง 160% ต่อ GDP ในปี 2020
และตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นนี้ ก็จะวนกลับไปเป็นปัญหาของอิตาลีในอนาคต โดยที่ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร..
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://data.worldbank.org/country/italy
-https://en.wikipedia.org/wiki/Lehman_Brothers
-https://www.forbes.com/sites/rebeccahughes/2020/05/26/after-the-health-crisis-comes-poverty-italy-warns-the-world/#79514a302d31
-https://www.statista.com/statistics/268830/unemployment-rate-in-eu-countries/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Italy
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita
-https://en.wikipedia.org/wiki/European_debt_crisis
-https://countryeconomy.com/deficit/Italy
-https://www.republicworld.com/world-news/rest-of-the-world-news/italy-faces-worst-recession-since-world-war-ii-economy-shrinks.html
-https://news.cgtn.com/news/2020-05-14/Italy-approves-55-billion-euro-stimulus-package-in-coronavirus-fight-QtOOkvBBss/index.html